xs
xsm
sm
md
lg

ทหารช่วยชาวบ้านที่พังงาขนถุงทรายทำแนวกันคลื่นลดความรุนแรงกัดเซาะชายหาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พังงา - ทหารนำกำลังเข้าช่วยเหลือประชาชนขนถุงทรายทำกำแพงกันคลื่น หลังโดนคลื่นยักษ์ถล่ม ส่งผลชายหาด และทรัพย์สินได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

เมื่อเวลา 17.30 น. วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่บริเวณโรงแรมไอยรา วิลล่าเขาหลัก ม.5 ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ร.ต.สำเนา สวัสดิ์ศรี ผบ.มว.รส.ร.25 พัน3 ค่ายวิภาวดีรังสิต ได้นำกำลังออกตรวจสอบความเสียหายที่เกิดจากคลื่นยักษ์ขนาด 3-5 เมตร ซัดเข้าถล่มชายฝั่งเขาหลักในช่วงวันที่ 13-17 มิถุนายน 2557 จนทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินประชาชนตลอดแนวชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดพังงา ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่น้ำทะเลไม่สูงมากประชาชนจึงเริ่มทำการซ่อมแซม และเตรียมการป้องกันคลื่นยักษ์ที่น้ำทะเลจะหนุนสูงอีกครั้งในวันแรม 15 ค่ำที่จะถึงนี้

ร.ต.สำเนา สวัสดิ์ศรี เปิดเผยว่า หลังจากได้รับคำสั่งให้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบว่าสามารถช่วยเหลือด้านแรงงานให้แก่ประชาชนในการซ่อมแซมความเสียหายได้บ้างหรือไม่ หลังจากลงสำรวจบริเวณหาดบางเนียง ต.คึกคัก พบความเสียหายตลอดแนวชายหาด เมื่อเดินตรวจสอบมาถึง โรงแรมไอยรา วิลล่า เขาหลัก พบคนงานกำลังเร่งขนกระสอบทรายเพื่อทำการซ่อมแซม และป้องกันความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายเดือนนี้ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนขึ้นสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง จึงได้ช่วยกันขนถุงทรายไปวางไว้เป็นกำแพงกันคลื่น ก่อนจะรายงานไปยังส่วนกลางถึงความเสียหายอีกต่อไป

ด้าน นายชาตรี เหล่าปียะสกุล เจ้าของโรงแรมไอยรา วิลล่า กล่าวว่า หลังจากเกิดลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลอันดามัน ประกอบกับเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงพอดี จึงทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดใส่ชายฝั่งอย่างรุนแรง และมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการกัดเซาะจนต้องเร่งนำไม้ปักเป็นแนว และนำกระสอบที่ได้รับจากเทศบาลตำบลคึกคักบางส่วนเร่งใส่ทรายเพื่อที่จะทำแนวป้องกันความเสียหายจากน้ำทะเลหนุนสูง และคลื่นลมแรงในช่วงปลายเดือน อาจจะสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเกิดสึนามิในปี 2547 โรงแรมไอยรา ถือเป็นโรงแรมแรกๆ ที่ได้ทำการก่อสร้างในบริเวณนี้ ซึ่งขณะนั้นทำทะเลสูงสุดอยู่หางจากโฉนดที่ดินไปประมาณ 11 เมตร และหลังเกิดสึนามิ ชายหาดได้เปลี่ยนไปจนทำให้น้ำทะเลสูงสุดขึ้นมาจนถึงหลักโฉนดที่ดินของตน ประกอบกับหลังสึนามิ ได้มี พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เข้ามาควบคุมจึงต้องถอยร่นจากน้ำทะเลสูงสุดไปอีก 30 เมตร ทำให้เกิดที่ว่างด้านหน้าเป็นจำนวนมาก เมื่อเข้าฤดูฝนก็จะมีการกัดเซาะแต่ไม่มากเท่าปัจจุบัน และธรรมชาติจะมีการเติมชายหาดกลับเข้ามาอีกครั้งเมื่อหมดฤดูฝนเป็นเช่นนี้ตลอดมา

จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการบริเวณชายหาดบางเนียงได้เริ่มมีการแก้ปัญหาการกัดเซาะด้วยการสร้างกำแพง พบว่าเกิดการกัดเซาะที่มากขึ้นจนตนเองจำเป็นต้องเริ่มทำการตอกไม้ทำเสาเข็ม และวางกระสอบทรายเพื่อป้องกันการกัดเซาะเป็นต้นมา อย่างไรก็ดี หลังจากฤดูมรสุมผ่านไปทุกสิ่งที่ได้ทำไปในช่วงหน้ามรสุม จะสามารถนำออก และใช้แรงงานในการช่วยธรรมชาติตกแต่งชายหาดเพียงเล็กน้อยเพื่อความสวยงามอีกครั้ง ซึ่งจะแตกต่างจากการทำกำแพงกั้นที่ต้องใช้ต้นทุนที่สูงกว่า และยังอาจเป็นสาเหตุของการกัดเซาะที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น