“ภูเก็ต” ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ขายความสวยงามของหาดทรายชายทะเล แต่พบว่าชายหาดต่างๆ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นที่สาธารณะ กำลังถูกบุกรุกถือครองโดยผู้ประกอบการ และชาวบ้าน ทำให้การเข้าถึงชายหาดของคนทั่วไปเป็นไปได้อยาก ถ้าไม่เป็นชายหาดส่วนตัวก็เป็นชายหาดที่เต็มไปด้วยร้านอาหาร ร่ม เตียงผ้าใบ ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่เพิ่งขึ้นแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และนับวันจะขยายเพิ่มมากขึ้นจนเกือบจะไม่มีที่ยืนสำหรับชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวแล้ว
มาวันนี้ เมื่อ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ และประกาศนโยบายที่จะคืนความสุขให้แก่คนไทย ซึ่งเรื่องของการจัดระเบียบชายหาด และยึดคืนชายหาดสาธารณะกลับมาให้ประชาชน ก็เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ ทาง คสช.ประกาศ และสั่งการลงมา ก็เริ่มเห็นความเอาจริงเอาจังของหน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาการบุกรุกชายหาดสาธารณะของจังหวัดภูเก็ตอีกครั้ง เริ่มมีปฏิบัติการทวงคืนที่สาธารณะให้แก่ประชาชนกันแล้ว โดยเฉพาะที่บริเวณหาดสุรินทร์ ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ที่ถูกเลือกให้เป็นชายหาดแห่งแรก ที่จะต้องจัดการกับกลุ่มผู้บุกรุกเพื่อคืนชายหาดให้ประชาชน ก่อนที่จะดำเนินการในหาดอื่นๆต่อไป ไม่ว่าเป็นหาดลายัน หาดเลพัง หาดบางเทา ในพื้นที่ ต.เชิงทะเล และหาดกมลา ในพื้นที่ ต.กมลา จ.ภูเก็ต
“หาดสุรินทร์” มีความยาวกว่า 700 เมตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประชาชนเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2502 หาดสุรินทร์ เป็นชายหาดที่อยู่ริมเชิงเขา มีต้นสนทะเลเรียงรายอยู่เหนือหาด ด้านขวาเป็นสนามหญ้า เนื้อที่กว่า 100 ไร่ ซึ่งเคยใช้เป็นสนามกอล์ฟแห่งแรกของจังหวัดภูเก็ต ในสมัยรัชกาลที่ 7 ปัจจุบัน เป็นทุ่งหญ้าสาธารณะอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล แต่สภาพหาดสุรินทร์ ในปัจจุบันพบว่าบริเวณแนวต้นสนมีการบุกรุกสร้างสิ่งปลูกสร้างจำนวนมาก ซึ่งการเข้าไปบุกรุกในพื้นที่บริเวณหาดสุรินทร์ เริ่มขึ้นก่อนปี 2546 ในสมัยนั้นมีชาวบ้านบุกรุกเพียงไม่กี่รายซึ่งเป็นคนในพื้นที่ และเมื่อปี 2546 ทางหน่วยงานราชการได้เข้าไปแก้ไขปัญหา และจัดระเบียบผู้บุกรุกเพื่อให้อยู่ในที่จำกัดโดยสร้างอาคาร จำนวน 29 ห้อง เพื่อให้กลุ่มผู้บุกรุกเข้าไปอยู่
แต่หลังจากนั้น การบุกรุกไม่ได้จำกัดอยู่แค่จุดที่ทางราชการจัดให้ มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากจนรุกไปถึงแนวต้นสนบริเวณชายหาด รวมทั้งมีการเปลี่ยนมือจากผู้บุกรุกรายเดิมไปเป็นบุคคลอื่น ซึ่งมีทั้งเซ้ง หุ้นส่วน นอมินี จนถึงขณะนี้เหลือพื้นที่ที่เป็นการบุกรุกโดยคนในพื้นที่จริงๆ ไม่ถึง 40% ส่วนที่เหลือได้มีการเปลี่ยนมือไปหมดแล้ว และไม่จำกัดอยู่เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่บางส่วนได้เปลี่ยนมือไปอยู่ในมือของชาวต่างชาติก็มี และมีการซื้อขายกันในราคาหลายล้านบาท ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการร้านอาหารแล้ว ในส่วนของโรงแรมใหญ่ก็มีการบุกรุกสร้างอาคารเป็นร้านอาหารถาวรด้วย ในแต่ละวันสามารถทำรายได้มหาศาล
นายมาแอน สำราญ นายก อบต.เชิงทะเล กล่าวว่า ในการจัดระเบียบชายหาดของ อบต.เชิงทะเล ซึ่งรับผิดชอบทั้งหมด 4 หาด คือ หาดสุรินทร์ หาดลายัน หาดเลพัง และหาดบางเทา ทั้งหมดจะมีระยะเวลาดำเนินการไม่ตรงกัน แต่ก็จะต้องดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดเพื่อความเสมอภาค และเป็นธรรม ซึ่งคาดว่าการดำเนินการกับผู้บุกรุกทั้ง 4 ชายหาดในพื้นที่ให้เสร็จภายใน 3-4 เดือนนี้ เพราะหลังจากนี้ภูเก็ตก็จะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นการจัดการชายหาดในส่วนนี้จะต้องทำให้เสร็จภายในช่วงโลว์ซีซันซึ่งเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวน้อย
การจัดระเบียบชายหาดทั้ง 4 แห่งนั้น เริ่มที่หาดสุรินทร์ เป็นแห่งแรก เนื่องจากหาดสุรินทร์นั้นจะมีความพิเศษกว่าที่อื่นๆ เพราะเป็นที่ดินหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือ นศล.จำนวน 101 ไร่ ซึ่งเมื่อ10 ปีที่ผ่านมา อบจ.ภูเก็ต ได้มีการทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินสาธารณะ ร่วมอบต.เชิงทะเล ซึ่งขณะนั้นได้มีการอนุมัติงบประมาณเข้าไปสร้างอาคารให้แก่ประชาชนที่รุกล้ำเข้าประกอบอาชีพ ให้ไปอยู่ในจุดที่กำหนด และในการจัดระเบียบครั้งนี้ก็จะต้องสงวนอาคารเดิมที่ อบจ.และ อบต.เชิงทะเลเคยกำหนดไว้ให้คงเดิม ให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ต่อไป ถึงแม้จะเปลี่ยนสภาพไปแล้วก็ตาม
ส่วนพื้นที่รุกล้ำแนวชายหาดตามที่กำหนด จำนวน 29 ราย ขณะนี้ผู้ประกอบการได้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างด้วยความสมัครใจไปแล้วเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังเหลือเพียงโครงสร้างบางส่วนที่มีขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้เวลา และเครื่องจักรทำการรื้อถอน ก็จะต้องดำเนินการขอคืนพื้นที่ให้เป็นสาธารณะให้ประชาชนสามารถใช้ร่วมกันได้ สำหรับผู้ประกอบการบางรายที่ยังพบมีการเอาโต๊ะเก้าอี้ไปวางแทนสิ่งปลูกสร้างนั้น เนื่องจากอยู่นอกเหนืออำนาจของ อบต.ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งได้แจ้งให้แก่อำเภอถลางเป็นผู้ดำเนินการ โดยทราบว่า ขณะนี้มีการดำเนินการสั่งการให้นำออกไปแล้ว
การแก้ไขปัญหาการบุกรุกชายหาดภูเก็ต เชื่อว่าเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่หลายคนกำลังจับตามองว่าแต่ละท้องถิ่นจะเอาจริงเอาจังแค่ไหนต่อการแก้ไขปัญหา เพื่อทวงคืนชายหาดสาธารณะให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้เข้าไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่แบบสบายใจโดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกคนที่แอบอ้างสิทธิมาไล่ หรือบังคับให้จ่ายเงินค่าเก้าอี้ ร่ม ผ้าใบ และการบุกรุกชายหาดในภูเก็ตไม่ได้มีเฉพาะในพื้นที่ ต.เชิงทะเล หรือกมลา เท่านั้น แต่เกือบทุกหาดที่มีการบุกรุก หวังว่าในเร็วๆ นี้จะคนภูเก็ตได้เห็น และใช้ชายหาดสาธารณะมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกจากชายหาดที่มีการบุกรุกโดยกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มนายทุนแล้ว ในภูเก็ตยังมีปัญหาการเข้าถึงหาดสาธารณะอีกหลายๆ แห่งที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากสถานประกอบการปิดทางเข้าออกโดยอ้างว่าเป็นที่ส่วนบุคคล ทำให้ชายหาดเหล่านั้นกลายเป็นชายหาดส่วนตัวของโรงแรมไปทันที ปัญหานี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่รอให้คนกล้าเข้าไปแก้ไขเพื่อเปิดทางให้คนได้เข้าไปใช้ชายหาดได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีการปิด