ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ภาคอุตสาหกรรมภูเก็ตไม่กระทบขาดแคลนแรงงาน หลังมีกระแสข่าวนโยบาย คสช.ให้ดำเนินการกวาดล้างแรงงานต่างด้าวจนทำให้แรงงานกัมพูชาทยอยเดินทางกลับประเทศ ขณะที่สำนักจัดหางานจังหวัดเร่งทำความเข้าใจนายจ้าง และแรงงานต่างด้าวกันการเข้าใจผิด
หลังจากที่มีกระแสข่าวลือว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.มีนโยบายให้ดำเนินการกวาดล้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจนทำให้มีแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาทยอยเดินทางกลับอย่างต่อเนื่อง จนหลายจังหวัดในภาคใต้ก็เริ่มได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านการประมง
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่เพื่อดูแนวโน้มผลกระทบที่เกิดขึ้นใน จ.ภูเก็ต พบว่า บรรยากาศที่ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต องค์การสะพานปลา ต.รัษฎา อ.เมือง ช่วงเช้าที่ผ่านมา ยังคงมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากออกมาทำงานเป็นปกติ ทั้งฝ่ายคัดแยกปลา ขนถ่าย และแรงงานในเรือประมง ที่เตรียมจะออกเรือหาปลา ขณะเดียวกัน ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำ และเจ้าหน้าที่องค์การสะพานปลาคอยดูแลความสงบเรียบร้อย พร้อมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
สอบถามจากผู้ประกอบการแพปลาหลายราย กล่าวว่า ที่ท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลาจังหวัดภูเก็ต ไม่มีผลกระทบจากกระแสข่าวลือดังกล่าว เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวพม่า ขณะที่แรงงานกัมพูชา มีเพียงไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด
นายสมนึก นันทจุล ช่างเครื่องเรือประมงกระแสสินธุ์ กล่าวว่า แรงงานบนเรือกระแสสินธุ์ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวพม่า จึงไม่มีผลกระทบต่อข่าวลือดังกล่าว แต่ตนได้เคยสอบถามจากเพื่อนซึ่งเป็นแรงงานชาวกัมพูชาซึ่งมีอยู่บนเรือลำอื่น ทราบว่า ชาวกัมพูชาที่อยู่บนเรือไม่ได้กังวลต่อข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากติดตามจากข่าวสาร และคำยืนยันจากญาติๆ ว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง แต่แรงงานชาวกัมพูชาคนดังกล่าวยอมรับว่า มีชาวกัมพูชาบางส่วนที่ทำงานอยู่บนเกาะภูเก็ต เดินทางกลับประเทศไปแล้ว
ด้านนาย ธันยากร กลับดี เจ้าหน้าที่ธุรการ 4 สำนักงานท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต องค์การสะพานปลา ก็ยืนยันว่า ที่ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวพม่า แรงงานชาวกัมพูชามีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่จะทำงานอยู่บนเรือปลากะตัก ซึ่งมีลักษณะเป็นเรือจร คือมาถึงส่งปลาเสร็จก็จะออกเดินทางต่อไม่แวะพักที่จังหวัดภูเก็ต และขณะนี้เองก็ยังไม่ได้มีการสอบถามถึงกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด
ขณะที่ นางเยาวภา พิบูลย์ผล หัวหน้าสำนักงานจัดหางานจังหวัด กล่าวว่า ขณะนี้ภาพรวมทั้งจังหวัดถือว่ายังไม่มีผลกระทบต่อกระแสข่าวที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากส่วนหนึ่งคือ จำนวนชาวกัมพูชาที่ทำงานในจังหวัดภูเก็ตมีน้อยมาก เทียบสัดส่วนแล้วไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด โดยจากตัวเลขภาพรวมแรงงานที่ขึ้นทะเบียนไว้กับแรงงานจังหวัด ทั้งหมด 3 สัญชาติคือ พม่า ลาว และกัมพูชา รวม 115,465 คน แบ่งเป็น แรงงานพม่า 113,861คน ลาว 714 คน และกัมพูชามีเพียง 890 คนเท่านั้น และส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ในโรงงาน หรือกิจการที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ และภาคการประมงอีกจำนวนหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานจัดหางานก็ได้เร่งทำความเข้าใจ โดยมีการทำหนังสือชี้แจงไปยังนายจ้าง สถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าว พร้อมทั้งทำป้ายประชาสัมพันธ์ และออกประกาศผ่านไปยังสื่อท้องถิ่นต่างๆ เพื่อป้องกันการแตกตื่นต่อกระแสข่าว รวมถึงเร็วๆ นี้จะมีการลงพื้นที่ไปพบผู้ประกอบการ และแรงงานต่างด้าวเพื่อทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม