ตรัง - เขตห้ามล่าฯ หมู่เกาะลิบง เร่งสอบสวน 3 เยาวชนในพื้นที่ หลังพบแอบนำซากพะยูนไปฝัง หวังรอวันขุดเพื่อนำกระดูกส่งไปขายนายทุนเพื่อทำยาบำรุงกำลัง หรือเครื่องรางของขลัง รับวันมหาสมุทรโลก
นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับแจ้งจากชาวบ้านบนเกาะลิบงว่า พบเยาวชน จำนวน 3 คน อายุระหว่าง 18-25 ปี ซึ่งเป็นลูกหลานชาวตำบลเกาะลิบง แต่ไปเรียนหนังสืออยู่ต่างจังหวัด ได้ออกไปหาปูม้า ปูดำ แล้วเจอซากพะยูนตัวหนึ่ง ไม่ทราบเพศ น้ำหนัก และความยาว ก่อนที่จะช่วยกันนำซากพะยูนตัวดังกล่าวไปฝังไว้โดยไม่ทราบเหตุผล ดังนั้น ตนจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่เดินทางไปประสานร่วมกับผู้นำชุมชน นำโดย นายอับดุลรอหีม บุญรักษา กำนันตำบลเกาะลิบง ได้เข้าพบเยาวชนทั้ง 3 คน รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ เบื้องต้นแม้จะพบว่าเป็นการกระทำโดยไม่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเยาวชนกลุ่มนี้ แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่า ทำไมจึงไม่ยอมบอกจุดที่นำซากพะยูนไปฝังเอาไว้ โดยอ้างแค่ว่าจำไม่ได้แล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจยึดหลักฐานมาประกอบการสอบสวนได้ อีกทั้งยังไม่ยอมบอกเหตุผลที่แน่ชัดของการนำซากพะยูนไปฝังไว้ เสมือนกับเป็นวิธีการที่รอวันให้เนื้อเน่าเปื่อยจนเหลือแต่กระดูก แล้วค่อยแอบมาขุดเพื่อนำไปขายในตลาดมืด เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันอยู่ว่ายังคงมีบุคคลบางกลุ่มในต่างประเทศที่มีความเชื่อแบบผิดๆ ว่า กระดูกของพะยูนสามารถนำไปทำยาบำรุงกำลัง หรือนำไปทำเครื่องรางของขลังได้
อย่างไรก็ตาม จากพฤติกรรมของเยาวชนทั้ง 3 คน แม้จะไม่ได้ตั้งใจทำไปเพื่อการค้า และมีนายทุนอยู่เบื้องหลัง ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นครั้งคราวในแวดวงอนุรักษ์ที่เชื่อมโยงได้ว่า ขบวนการรับซื้อกระดูกของพะยูนจากต่างถิ่นน่าจะมีอยู่จริง เพียงแค่ยังไม่รุนแรงถึงขั้นออกใบสั่งล่าพะยูนเพื่อฆ่าเอาชิ้นส่วนไปขายกันโดยเฉพาะ แต่เป็นลักษณะของการนำซากพะยูนไปฝังให้เนื้อเน่าเปื่อย แล้วรอจังหวะที่จะขุดกระดูกเพื่อส่งไปขายให้แก่ตลาดมืดที่ต้องการ โดยมีราคาตั้งแต่หลักพัน ถึงหลักหมื่นบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงยอมรับไม่ได้ จึงต้องเร่งเข้าไปดำเนินการทั้งป้องปราม และปราบปรามอย่างจริงจัง
ดังนั้น ได้เร่งประสานร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชนทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความรู้สึกรัก และหวงแหนพะยูน ซึ่งเปรียบเสมือนสิ่งมีค่าที่พระเจ้าให้มาอยู่คู่กับเกาะลิบง และจะเป็นสิ่งที่ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านทุกคนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งการออกตรวจตราพื้นที่สัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง จนสามารถยึดอวนปลากระเบน และควบคุมเครื่องมือประมง ตลอดจนทำความเข้าใจว่าการครอบครองซาก หรือกระดูกของพะยูน จะมีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าสงวน ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
โดยในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมา นับเป็นช่วงวิกฤตของพะยูน เนื่องจากพบการตายลงไปจำนวนหลายสิบตัว แต่ในช่วงปี 2557 สถานการณ์ต่างๆ เริ่มกลับมาดีขึ้นอย่างมาก เพราะพบการตายเพียงแค่ 4 ตัว และในจำนวนนี้ 3 ตัว อยู่ในบริเวณเกาะลิบง แหล่งอนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งยังเป็นอัตราที่ไม่สูง และคาดการณ์ว่าทั้งปีนี้ควบคุมการตายให้ลดลงได้ ในขณะที่อัตราการเกิดของพะยูนเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 10 ตัว พร้อมทั้งเริ่มพบเห็นลูกพะยูนที่เกิดขึ้นเข้ามาหากินใกล้ชายฝั่งมากขึ้น โดยล่าสุด พบการติดอวน และการเกยตื้น จำนวน 2 ตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ช่วยเหลือไว้จนปลอดภัย แสดงให้เห็นถึงอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด