xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรจังหวัดกระบี่ แนะป้องกันโรคทะลายปาล์มน้ำมันเน่าช่วงหน้าฝน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระบี่ - เกษตรจังหวัดกระบี่ ห่วงช่วงหน้าฝนเกิดโรคทะลายปาล์มเน่า เนื่องจากสภาพแวดล้อมเหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราซึ่งเป็นสาเหตุของโรค แนะเกษตรกรตรวจพบเร่งตัดส่วนที่เป็นโรคทิ้งทันที

นายไชยยุทธ์ ขุนฤทธิ์แก้ว เกษตรจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าฝนปาล์มน้ำมันมีโอกาสที่จะเป็นโรคทะลายเน่าได้สูง เนื่องจากสภาพแวดล้อมมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรค ซึ่งการเกิดโรค และการแพร่ระบาดพบมากในปาล์มอายุ 3-9 ปี โดยเฉพาะปาล์มที่มีการผสมเกสรไม่สมบูรณ์อันเนื่องมาจากเกสรตัวผู้น้อย หรือมีแมลงผสมเกสรไม่เพียงพอ ซึ่งการเกิดโรคทะลายเน่าของปาล์มน้ำมันจะมีความสัมพันธ์กับอากาศที่ชื้นในฤดูฝน รวมถึงในสภาพที่ปลูกปาล์มชิดกันเกินไป ทำให้เกื้อกูลต่อการเกิดโรคได้อย่างรวดเร็ว

เกษตรจังหวัดกระบี่ กล่าวอีกว่า อาการของโรคในระยะแรกพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราบนทะลายปาล์มน้ำมัน เส้นใยเจริญอยู่บริเวณช่องระหว่างผลปาล์ม และโคนทะลายส่วนที่ติดทางใบ ต่อมา เส้นใยขึ้นปกคลุมทั้งทะลาย เกิดอาการผลเน่าเป็นสีน้ำตาล ในแปลงที่ไม่มีการกำจัดทะลายที่แสดงอาการเน่าออกจากต้น เชื้อราจะกระจายไปยังทะลายที่อยู่ใกล้เคียงตลอดจนส่วนอื่นๆ ของต้นปาล์มน้ำมัน เช่น บนโคนทาง ก้านทาง หรือบนใบย่อย ทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น และจะกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร มีรายได้ลดลง

การป้องกันกำจัดโรคโดยการทำลายส่วนที่เป็นโรคทิ้ง หาวิธีการให้ปาล์มได้รับการผสมเกสรให้เพียงพอเพื่อลดจำนวนทะลายที่ผสมเกสรไม่ติดอันจะเป็นที่อาศัยของเชื้อรา อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ หลีกเลี่ยงการสร้างทะลายจำนวนมากในระยะที่ต้นปาล์มน้ำมันกำลังอยู่ในช่วงให้ผลผลิตในระยะแรก โดยการตัดช่อดอก หรือทะลายทิ้ง และควรตัดทะลายที่มีการผสมเกสรไม่สมบูรณ์ออกให้หมด ตลอดจนการตัดแต่งทางใบ ซึ่งเป็นการลดความชื้นที่คอทาง

อีกวิธีการหนึ่งในการป้องกันโรคทะลายเน่าปาล์มน้ำมัน คือ การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นตัวควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคนี้ โดยใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่า 1 กก. ละลายในน้ำ 5 ลิตร กรองเอาเฉพาะน้ำ แล้วนำไปผสมกับน้ำอีก 100 ลิตร ควรใส่สารจับใบลงไปด้วย แล้วนำไปฉีดต้นปาล์มโดยเฉพาะบริเวณทะลายปาล์มให้ทั่วทั้งแปลงทุกๆ 20 วันต่อครั้ง ในระหว่างฉีดให้เขย่าถังเป็นระยะเพื่อไม่ให้เชื้อไตรโดเดอร์มาตกตะกอน ก็จะสามารถควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคนี้ได้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น