ยะลา - เลขาธิการ ศอ.บต. เชิญครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กรือเซะ และสะบ้าย้อย เมื่อ 28 เมษายน 2547 เข้าพบปะ พร้อมให้กำลังใจแก่ครอบครัวผู้สูญเสีย ระบุ รัฐบาลพร้อมให้การช่วยเหลือและดูแลเคียงข้าง พร้อมมีมติ ครม. ช่วยเหลือผู้ได้รับความสูญเสียรายละ 4 ล้านบาท
วันนี้ (29 เม.ย ) เมื่อเวลา 16.30 น. ที่ห้องโถง อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปิยะ กิจถาวร รองเลขา ศอ.บต. พล.ต.ท.ยงยุทธ เจริญวานิช ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ส่วนราชการ ผู้นำศาสนา และผู้เกี่ยวข้อง ได้ร่วมพบปะครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ และเหตุการณ์ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เพื่อให้กำลังใจแก่ครอบครัวผู้สูญเสีย โดยมีครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ จำนวน 31 ราย และเหตุการณ์ที่ อ.สะบ้าย้อย จำนวน 19 รายเข้าร่วมพบปะในครั้งนี้
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การเชิญครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบมาร่วมพบปะในครั้งนี้ เป็นการให้กำลังใจ และมาร่วมพูดคุยถึงการให้ความช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2547 ที่ผ่านมา เพื่อให้กำลังใจซึ่งเชื่อว่าถ้าเลือกได้ทุกคนก็ไม่อยากให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ซึ่งทาง รัฐบาล และทาง ศอ.บต. ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือดูแล และจะอยู่เคียงข้างเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบ ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพต่อไป
สำหรับเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2547 นั้น เกิดขึ้นเมื่อเวลา 05.30 น. เป็นต้นไป ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยมีคนร้ายบุกโจมตีและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจต่างๆ พร้อมกันหลายจุด โดยในพื้นที่ จ.ปัตตานี จำนวน 3 จุด คือ จุดตรวจบ้านกรือเซะ ต.ตันหยงลูโล๊ะ อ.เมือง จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้เกิดการต่อสู้กัน ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตจำนวน 3 นาย บาดเจ็บ 5 นาย คนร้ายเสียชีวิต 32 ราย โดยจุดนี้กลายมาเป็นที่มาของเหตุการณ์สำคัญ คือ เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ 28 เมษายน 2547 จุดที่สอง คือ จุดตรวจหม้อแกง ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยจุดนี้คนร้ายเสียชีวิต 2 ราย และจุดที่สาม ที่สถานีตำรวจภูธรแม่ลาน อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี จุดนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 4 นาย คนร้ายเสียชีวิต 12 คน จับกุมได้ 1 คน ในพื้นที่ จ.ยะลา มีการเข้าโจมตีจำนวน 6 จุด คือ จุดตรวจบ้านเนียง ต.ลิดล อ.เมือง จ.ยะลา ฐานปฏิบัติการทหาร ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา จุดตรวจ ตชด. ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ฐานปฏิบัติการชุด ชมส.ตชด. ตชด.ที่ 12 ต.บาโงย อ.รามัน จ.ยะลา หน่วยสันตินิมิต บ้านบัวทอง ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา และ สภ.กรงปินัง อ.กรงปินัง จ.ยะลา และในพื้นที่ จ.สงขลา มี 1 จุด คือ หน่วยบริการประชาชน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา มีผู้เสียชีวิต จำนวน 19 คน และเป็นที่มาของ เหตุการณ์ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา 28 เมษายน 2547
ทั้งนี้ การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้น เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ และได้อนุมัติงบประมาณ 2,080 ล้านบาท เพื่อให้การช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ โดยครอบคลุมย้อนหลังเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 เป็นต้นมา โดยแบ่ง เป็น 4 กลุ่ม คือประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เป็นเหตุการณ์เฉพาะกรณี และผู้ถูกคุมตัว คุมขัง ถูกดำเนินคดี และต่อมาถูกปล่อยตัวโดยไม่มีความผิด โดยเหตุการณ์ตากใบ เหตุการณ์สะบ้าย้อย ให้การช่วยเหลือเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาท และเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ ช่วยเหลือรายละ 4 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มที่ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือเยียวยามาก่อน คือ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือผู้ที่ถูกดำเนินคดีต่อมาได้มีการยกฟ้อง หรือถอนฟ้อง อีกด้วย