xs
xsm
sm
md
lg

“กรมควบคุมมลพิษ” หวั่นขุดคลองบางตะเคร็ง จ.นครศรีฯ อาจพังระบบนิเวศยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - กรมควบคุมมลพิษ กังวลหลังกรมเจ้าท่าขุดลอกคลองบางตะเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช โดยไม่ผ่าน EIA อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย และป่าพรุที่อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ

วันนี้ (5 เม.ย.) ที่ห้องประชุม 2 ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเพื่อติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามแผนบริหารจัดการและฟื้นฟูลุ่มน้ำปากพนัง โดยมี นางสุนี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ประธานคณะทำงาน พร้อมด้วยคณะทำงานจากหน่วยงานจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายเข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้รับทราบเรื่องการขุดลอกคลองบางตะเคร็ง ที่อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย และพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง ซึ่งกรมเจ้าท่า ได้ขุดลอกเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีความกว้าง 11 เมตร ลึก 2.5 เมตร แต่พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ซึ่งมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 กำหนดให้มีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก่อนดำเนินการใดๆ

โดยที่ประชุมแสดงความกังวลว่า ผลจากการขุดลอกคลองดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของป่าพรุในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และระดับชาติ ดังนั้น กรมเจ้าท่าจะต้องทำหนังสือหารือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมน้ำตามมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งต้องมีมาตรการต่างๆ มารองรับเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะตามมา เช่น การดูแลฟื้นฟูป่าพรุไม่ให้มีการบุกรุกป่า การปลูกต้นไม้เพิ่มเติม การเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของสัตว์น้ำ การรักษาระดับน้ำในป่าพรุ เป็นต้น โดยอาจมีการทำข้อตกลง (MOU) ร่วมกันระหว่างกรมเจ้าท่า อบต.ทะเลน้อย และ อบต.เคร็ง

นางสุนี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ในเมื่อมีการขุดลอกคลองไปแล้ว การทำรายงานผลการทบสิ่งแวดล้อมย้อนหลังคงไม่สามารถทำได้ แต่กรมเจ้าท่า ต้องทำหนังสือหารือยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงาน แต่สิ่งที่อยากเห็นในขณะนี้คือ มาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อป้องกันผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะตามมาภายหลัง

ผู้แทนกรมจ้าท่า ชี้แจงว่า กรมเจ้าท่าดำเนินการขุดลอกคลองตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งภายหลังขุดลอกคลองแล้วระดับน้ำในป่าพรุลดลงเพียง 10 เซนติเมตรเท่านั้น ส่วนสัตว์น้ำมีปริมาณเพิ่มขึ้น ชาวบ้านสามารถจับน้ำได้เพิ่มขึ้น ส่วนมาตรการต่างๆ กรมเจ้าท่า ร่วมกับ อบต.ทะเลน้อย และ อบต.เคร็ง ได้ดำเนินการร่วมกันอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบแผนงานโครงการกิจกรรมภายใต้แผนบริหารจัดการและฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำปากพนัง ปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารหนูในพื้นที่ตำบลหินตก อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ตามแนวพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารหนู จำนวน 2 ครั้ง ของสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 1 สงขลา ปรากฏว่า มีค่าไม่เกินเกณฑ์อนุโลมสูงสุดในทุกจุดที่เก็บ จำนวน 12 จุด ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานน้ำบาดาลที่จะใช้บริโภคได้ (เกณฑ์อนุโลมสูงสุดมีค่าไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อลิตร)


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น