xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.ชลประทานยะลาเผยภัยแล้งวิกฤตหนัก ห่วงประปายะลา-ปัตตานีขาดแคลน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอนุรักษ์ ธีระโชติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานยะลา
ยะลา - ผอ.โครงการชลประทานยะลา เชื่อปีนี้ภัยแล้งยะลาหนักกว่าเดิม หลังปริมาณฝนในห้วงที่ผ่านมาน้อยลง คาดเดือน มี.ค.-เม.ย.57 วิกฤต ห่วงประปายะลา-ปัตตานี ต้องสูบน้ำเข้าระบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เร่งหารือร่วมกัน

วันนี้ (4 มี.ค.) ที่สำนักงานโครงการชลประทานยะลา นายอนุรักษ์ ธีระโชติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานยะลา เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.ยะลา ว่า แนวโน้มในช่วงนี้เนื่องจากฝนทิ้งช่วงตั้งแต่เดือนมกราคม และปลายฤดูฝนของจังหวัดยะลา ก็มีฝนตกน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ก็สามารถเก็บน้ำไว้อยู่ที่ประมาณ 69% แต่น้ำที่เราจะสามารถเอาใช้เพื่อที่จะสนับสนุนผู้อุปโภคบริโภคของจังหวัดยะลา และปัตตานีนั้น ก็มีไม่เพียงพอ เนื่องจากว่าทางเขื่อนบางลาง มีความจำเป็นที่ต้องซ่อมระบบไฟฟ้า และในขณะนี้ก็ได้เตรียมที่จะปรึกษาหารือที่นำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

ซึ่งทางชลประทานเองก็คาดว่าจากสภาวะฝนที่เป็นอยู่ขณะนี้ ก็อาจทำให้ภัยแล้งนี้ส่งผลกระทบต่อจังหวัดปัตตานี ยะลา ได้ไม่น้อยกว่า 1-2 เดือน ในเดือนมีนาคม และเดือนเมษายน ซึ่งถ้าโชคดีในช่วงเดือนของปลายเมษายน มีฝนในช่วงฤดูแล้งมาบ้าง ก็ทำให้ปัญหาเบาบางลง อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่เกิดเหตุภัยแล้งในหลายๆ ปีที่ผ่านมาในพื้นที่ของจังหวัดยะลา และปัตตานีนั้น ที่ไม่มีแม่น้ำลำคลองรองรับอยู่ ก็จะทำให้น้ำใต้ดิน น้ำในบ่อน้ำตื้นต่ำลงไปแทบสุดๆ จะเห็นได้จากหนองของบึงต่างๆ ในวันนี้น้ำแห้งขอดค่อนข้างมาก

และที่น่าเป็นห่วงก็คือ การที่ระบบประปาในเขตเทศบาลเมืองนครยะลา กับชุมชนเทศบาลเมืองปัตตานี ค่อนข้างที่จะวิกฤต มีน้ำน้อย ซึ่งอาจต้องเสริมการใช้เครื่องสูบน้ำ โดยการอาจต้องทำกระสอบทรายเพื่อจะกักน้ำไว้เพียงพอที่จะสูบน้ำเข้าสู่ระบบเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่พอถึงจุดหนึ่งจะต้องมีการร่วมพิจารณา เพื่อที่จะปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนบางลางร่วมกัน ก็ต้องขอความร่วมมือจากระดับจังหวัดทั้ง 2 จังหวัด เพื่อที่จะให้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ปรับแผนในการปรับปรุงเครื่องกำหนดไฟฟ้า และเร่งระบายน้ำลงมาเพื่อจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่ให้แก่พี่น้องประชาชน อย่างน้อยก็ให้ประปาผลิตน้ำได้

“ที่หนักที่สุดก็จะเป็นที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งเมื่อน้ำผ่านจังหวัดยะลาลงไปแล้ว อย่างน้อยที่ 25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีนั้น วันนี้ทางเขื่อนบางลางระบายมาให้พอดีๆ แต่สำหรับการที่จะใช้อุปโภคบริโภคนั้น ก็จะมีการใช้ตั้งแต่ต้นทางแล้วก็อาจจะทำให้น้ำที่ลงไปที่ปัตตานีไม่เพียงพอกับ 25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งอาจจะเกิดวิกฤตเหมือนกับทางภาคกลางของแม่น้ำเจ้าพระยา ก็คือ ความเค็มดันขึ้นมาสูง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อประปาเทศบาลเมืองปัตตานี อาจจะต้องสูบน้ำเค็มขึ้นไปใช้ ซึ่งเราต้องมาหาวิธีการปรับขบวนน้ำให้เพียงพอต่อผู้บริโภคทำประปาที่เทศบาลเมืองปัตตานี” นายอนุรักษ์ กล่าว

ผู้อำนวยการโครงการชลประทานยะลา ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของชลประทานยะลาเองนั้น วันนี้ได้ส่งเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยในช่วงปลายฤดูนาปีในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งได้ส่งเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยแล้ว และทางองค์การบริหารส่วนตำบลก็ได้ร้องขอเครื่องสูบน้ำ มาทางชลประทานหลายเครื่อง อยู่ในช่วงประสานงานสูบน้ำให้เพียงพอ

ส่วนมาตรการที่จะให้ความช่วยเหลือต่อไปก็คงต้องนำสู่กระบวนการปรึกษาหารือร่วมกัน เพราะน้ำใช้ช่วงต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำทั้ง 2 จังหวัด คงต้องช่วยกันทั้ง 2 จังหวัด อาจจะต้องพิจารณาไปถึงพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำสายบุรีของจังหวัดยะลา และปัตตานีด้วย คงต้องช่วยกันแก้ไขว่าส่วนใดที่จะช่วยนำน้ำจืดขึ้นมาใช้ได้ให้มากขึ้น ก็ได้วางแผนแหล่งน้ำในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งจะต้องช่วยเหลือที่ขาดแคลนน้ำในภัยแล้งได้บรรเทาในฤดูแล้ง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น