xs
xsm
sm
md
lg

เกษตร อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เผยปัญหาภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นราธิวาส - เกษตรอำเภอสุไหงโก-ลก ระบุพื้นที่ทางการเกษตรใน อ.สุไหงโก-ลก ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากนัก เนื่องจากเป็นช่วงพักของพืชผลประเภทผลไม้ ส่วนพื้นที่ทำนาใน อ.ตากใบ โครงการชลประทานได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดแล้ว

วันนี้ (25 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางมยุรี อรุณวงศ์ เกษตรอำเภอสุไหงโก-ลก กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลลิตทางการเกษตรมากนัก เนื่องจากเป็นช่วงพักของพืชผลประเภทผลไม้ ส่วนพืชผักส่วนใหญ่ปลูกไว้บริโภคในครัวเรือน และแบ่งไปจำหน่ายบางส่วนเท่านั้น จึงยังมีแหล่งน้ำเพียงพอที่จะไว้ใช้สำหรับการดูแลตลอดช่วงหน้าแล้ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการเข้าไปสำรวจพื้นที่การปลูกแตงโมมากกว่า 300 ไร่ ในพื้นที่ ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก ที่มักปลูกในช่วงหน้าแล้งว่าได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหรือไม่ ซึ่งพบว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้กับป่าพรุโต๊ะแดง ที่ยังมีความชุ่มชื้นจากปริมาณน้ำที่สะสมอยู่อีก ทำให้แปลงปลูกแตงโมได้รับน้ำสำหรับการบำรุงต้นได้อย่างเพียงพอ โดยเกษตรกรจะเริ่มเก็บผลแตงโมไปจำหน่ายในช่วง 1-2 เดือนนี้

เกษตรอำเภอสุไหงโก-ลก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงหน้าแล้ง สำนักงานเกษตรอำเภอได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกให้ความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษาพืชไร่ และพืชสวนในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายจากภัยแล้ง ให้นำเศษหญ้า และเศษวัชพืชมาคลุมที่โคนต้น หลีกเลี่ยงการจุดไฟเผาเศษไม้ ใบไม้ในพื้นที่ทางการเกษตรที่อาจลุกลามจนกินพื้นที่ทั้งหมดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสำนักงานเกษตรอำเภอสุไหงโก-ลก จะมีการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิดเพื่อให้พื้นที่ทางการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ด้านนายอรุณ คงสุข เกษตรอำเภอตากใบ กล่าวว่า พื้นที่ทางการเกษตรของ อ.ตากใบ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นา ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก แต่โชคดีที่พื้นที่นาอยู่ในโครงการชลประทาน ทำให้มีการสูบน้ำเข้ามาให้ใช้อย่างต่อเนื่อง ส่วนในพื้นที่ใดที่อยู่นอกเขตชลประทาน ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะประสานขอรับการสนับสนุนในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงเข้าพื้นที่นา ทำให้สามารถบรรเทาความเดือดร้อนไปได้ในระดับหนึ่ง ส่วนผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ยังต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งหรือไม่ อย่างไร
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น