xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ตไม่ขาดน้ำหน้าแล้งนี้ บางวาดใช้ได้ 2 เดือนเต็ม ประปามีแหล่งสำรอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - น้ำดิบในอ่างเก็บน้ำบางวาด เหลือเกือบ 5 ล้าน ลบ.ม. ใช้ได้ถึงปลายเดือนเมษาฯ หากฝนไม่ตกลงมา แต่อุตุฯเผย 21-23 ก.พ.นี้ จะมีฝนตกลงมาแน่นอน ด้านประปามั่นใจจ่ายน้ำได้ตลอดหน้าแล้งนี้ ภูเก็ตไม่ขาดแคลนน้ำแน่นอน มีน้ำจากขุมเหมืองเอกชนรองรับ

วันนี้ (18 ก.พ.) นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ติดตามสถานการณ์น้ำ และปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาหากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง น้ำที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของครัวเรือน ภาคการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายอำเภอกะทู้ ชลประทานภูเก็ต ประปาส่วนภูมิภาคภูเก็ต อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตก เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย เข้าร่วม ณ ห้องประชุมอ่างเก็บน้ำบางวาด อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต

โดยทางชลประทานภูเก็ต ได้นำเสนอภาพรวมของน้ำในอ่างเก็บน้ำบางวาด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่นำไปผลิตน้ำประปาที่ใหญ่ที่สุดในภูเก็ต ปรากฏว่า ขณะนี้มีปริมาณน้ำดิบอยู่ 4.92 ล้าน ลบ.ม. จากความจุทั้งหมด 7.3 ล้าน ลบ.ม. หรือเหลืออยู่ประมาณ 67.3% ซึ่งทางประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต ใช้ในการผลิตน้ำประปาวันละ 35,000 ลบ.ม. และประปาเทศบาลนครภูเก็ต อีกวันละ 30,000 ลบ.ม. ประมาณการว่าปริมาณน้ำดิบที่มีอยู่ในขณะนี้จะรองรับการใช้น้ำในภูเก็ตได้อีก 2 เดือน ซึ่งหากในช่วงดังกล่าวไม่มีฝนตกลงมาน้ำดิบที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ จะรองรับการใช้น้ำได้ไปจนถึงเดือนเมษายนนี้เท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ทางอุตุนิยมวิทยาชายฝั่งทะเลตะวันตก ได้รายงานว่า จากการพยากรณ์อากาศในวันที่ 21-23 ก.พ.นี้ จะมีฝนตกลงมาในภูเก็ต และคาดการณ์ว่าในเดือนมีนาคม-เมษายน ปริมาณฝนที่ตกในภูเก็ตจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ซึ่งหากมีฝนตกลงมา ทางการประปา และชลประทานสามารถสูบน้ำจากคลองบางใหญ่ลงในเขื่อนบางวาดได้อีก ซึ่งคาดว่าในปีนี้ภูเก็ตไม่น่าที่จะมีปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งอย่างแน่นอน

นายพิศักดิ์ ชลยุทธ์ ผู้จัดการประปาภูเก็ต กล่าวว่า ภัยแล้งในภูเก็ตไม่น่ากลัว ภูเก็ตจะประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงมากกว่า ซึ่งในส่วนของประปานั้นคิดว่าในหน้าแล้งปีนี้ภูเก็ตจะไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน ประปามีแหล่งน้ำดิบที่จะนำมาผลิตน้ำประปาทั้งในอ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ขุมเหมืองเอกชน ที่ได้ทำสัญญาซื้อน้ำไปไว้ คิดว่าเพียงพอที่จะให้บริการประชาชน และภาคการท่องเที่ยว และเมื่อมีฝนตกลงมาก็สามารถที่จะสูบน้ำจากคลองบางใหญ่เข้ามาเสริมได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ทางการประปาได้จัดสรรงบประมาณ 420 ล้านบาท ในการปรับปรุงเส้นท่อเป็น 500 มิลลิเมตร เพิ่มกำลังการผลิตจากวันละ 1,000 ลบ.ม. เป็น 2,000 ลบ.ม. ซึ่งส่วนนี้จะแล้วเสร็จประมาณปี 2558 นี้ รวมทั้งได้มีการก่อสร้างโรงกรองน้ำประปาที่อ่างเก็บน้ำคลองกระทะ วันละ 500 ลบ.ม. รองรับการใช้น้ำทางตอนใต้ของเกาะ โซนฉลอง ราไวย์ กะตะ กะรน เป็นต้น

โดยทั้งหมดนี้เป็นการเตรียมพร้อมรองรับการใช้น้ำของภูเก็ตที่มีความต้องการสูงถึงวันละประมาณ 500,000 ลบ.ม. แต่ขณะนี้การประปาผลิต และจำหน่ายให้ประชาชนวันละ 80,000 ลบ.ม. ซึ่งประชาชน และผู้ประกอบการบางส่วนใช้น้ำจากบ่อบาดาล และซื้อน้ำจากขุมเหมือง เป็นต้น

ส่วนภาคการเกษตรในภูเก็ตนั้น ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ เพราะภูเก็ตมีพื้นที่การเกษตรน้อยมาก พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นสวนยางพารา จะมีที่ได้รับผลกระทบบ้างในส่วนของสวนสับปะรด สวนมะพร้าว แต่ประชาชนก็มีบ่อน้ำบาดาลไว้รองรับ และบางพื้นที่หากน้ำไม่เพียงพอก็จะไม่ปลูกพืช เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางส่วนที่น้ำประปาไม่สามารถวางท่อไปถึงได้ก็จะใช้น้ำจากบ่อน้ำบาดาลที่ขุดขึ้นเอง โดยขณะนี้ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า ภูเก็ตมีการขุดบ่อน้ำบาดาลที่ใช้ในครัวเรือนและขายน้ำแล้วประมาณ 900-1,000 บ่อ แบ่งเป็นขุดเพื่อนำน้ำมาใช้ในครัวเรือนประมาณ 300 บ่อ ขุดเพื่อขายน้ำ โดยการจดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องประมาณ 600 กว่าบ่อ โดยแต่ละบ่อต้องจ้างบริษัทเอกชนขุดบ่อละ 120,000-150,000 บาท กระจายอยู่ทั่วทั้งภูเก็ต จึงทำให้ประชาชนชาวภูเก็ตไม่ค่อยมีปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง

สำหรับปริมาณความต้องการใช้น้ำในภูเก็ต จากการศึกษาพบว่า ความต้องการใช้น้ำในภูเก็ตเพิ่มขึ้นปีละ 2% โดยปี 2555 ความต้องการใช้น้ำอยู่ที่ 54 ล้าน ลบ.ม. ปี 2560 อยู่ที่ 61 ล้าน ลบ.ม. ปี 2570 อยู่ที่ 78 ล้าน ลบ.ม. และในปี 2580 ความต้องการใช้น้ำอยู่ที่ 101 ล้าน ลบ.ม.

โดยขณะนี้ภูเก็ตมีแหล่งน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปา ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำบางวาด จุได้ 7.3 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ จุได้ 7.20 ล้าน ลบ.ม. และสถานีสูบน้ำโครงการคลองบางใหญ่-บางวาด 6.50 ล้าน ลบ.ม. รวม 21 ล้าน ลบ.ม. และขุมเหมืองเอกชนอีก 130 กว่าขุม มีปริมาณน้ำกว่า 70 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น