ตรัง – อุตสาหกรรมไม้ยางพาราในจังหวัดตรัง บุกพบผู้ว่าฯ เพื่อเสนอปัญหา และอุปสรรคร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อให้รัฐบาลช่วยเหลือ
วันนี้ (23 ธ.ค.) นายวิถี สุพิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง และประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทวู้ดเวอร์ค ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากยางรายใหญ่ของจังหวัดตรังเปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมไม้ยางพาราในจังหวัดตรัง ประกอบไปด้วยโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา จำนวน 46 โรง โรงงานผลิตเครื่องเรือนไม้เฟอร์นิเจอร์ จำนวน 3 โรง โรงงานผลิตของเล่นเด็กจากไม้ยางพารา จำนวน 1 โรง และโรงงานผลิตชิ้นส่วนของเด็กจากไม้ยางพารา จำนวน 5 โรง โดยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2554 จำนวน 170,521.80 ล้านบาท
ล่าสุด กลุ่มคัสเตอร์ไม้ยางพารา และชมรมไม้ยางพาราจังหวัดตรัง ได้เข้าพบหารือกับ นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อนำเสนอถึงปัญหา และอุปสรรคของอุตสาหกรรมไม้ยางพาราไทย เช่น การที่ไม้ยางพารามีราคาผันผวนขึ้นลงมาก จนส่งผลกระทบด้านต้นทุนในการผลิต การที่ต้นทุนค่าจ้างของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง การขาดแคลนเงินทุนในการดำเนินงาน ทำให้มีต้นทุนในการผลิตสูง และการขาดการรวมกลุ่มเพื่อถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เป็นต้น
ทั้งนี้ นอกจากจะมีการนำเสนอปัญหา และอุปสรรคผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อผลักดันผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) แล้ว ในส่วนของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลเข้ามาทุ่มเท และดูแลอุตสาหกรรมไม้ยางพาราอย่างจริงจัง เนื่องจากขณะนี้มีพื้นที่เพาะปลูกยางพาราในทุกๆ ภาคเพิ่มขึ้นปีละ 5-10% ในขณะที่ตลาดส่งออกทั้งในยุโรป และเอเชีย ก็กำลังประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ
ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงอยากให้มีการเข้ามาส่งเสริมไม้ยางพารา เพื่อนำไปสู่การแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือการใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ นอกเหนือจากการผลิตเพื่อส่งออกในรูปแบบเฟอร์นิเจอร์เพียงอย่างเดียว รวมทั้งการนำงานวิจัย และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสำหรับการพัฒนา ซึ่งจะทำให้ไม้ยางพาราเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เช่น สามารถโดดแดดโดนฝนได้ โดยไม่เกิดความเสียหาย หรือนำเศษไม้ยางพารา และส่วนต่างๆ ไปผลิตเป็นพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้า ซึ่งกำลังเดินเครื่องในหลายจังหวัดของภาคใต้