xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ตกางแผนช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทางทะเล ก่อนขอสนับสนุนจากอังกฤษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ว่าฯภูเก็ต ระดมหน่วยงานราชการ และท้องถิ่น กางแผนงาน/โครงการ บุคลากร อุปกรณ์ ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทางทะเลที่มีอยู่ทั้งหมด ก่อนนำเสนอขอการสนับสนุนจากสถานทูตอังกฤษในส่วนที่ยังขาดมาเติมเต็มให้พร้อม เพื่อเพิ่มศักยภาพการช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 นายไมตรี อินทุสุตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมเตรียมความปลอดภัยชายฝั่งทะเล กรณีชายฝั่งอันดามัน จังหวัดภูเก็ต (Coastal Waters Safety summit - Andaman Coast Phuket) โดยมี น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ นายจำเริญ ทิพยพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต น.อ.กฤษฎา รัตนสุภา รองผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์นายก อบจ. ว่าที่ ร.ต.ตระกูล โทธรรม ผอ.ศปภ.เขต 18 ภูเก็ต พ.ต.ท.ฉัตรชัย ศักดิ์ดี สารวัตรตำรวจน้ำภูเก็ต นายสันติ ป่าหวาย ผอ.สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาภูเก็ต ทัพเรือภาค 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นายไมตรี กล่าวว่า การเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้างต้นหารือในวันนี้ เพื่อที่จะให้แต่ละหน่วยงานได้นำเสนอความพร้อมของหน่วยงานนั้นๆ ในการให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวกรณีที่เกิดอุบัติเหตุทางน้ำ และการจมน้ำของนักท่องเที่ยว ความพร้อมด้านบุคลากร การประสานงาน ระบบการบริหารจัดการ ทั้งก่อนเกิด ระหว่างเกิด และหลังเกิดอุบัติเหตุนั้นๆ แล้ว ทั้งนี้ เพื่อที่จะนำความพร้อมที่แต่ละหน่วยงานในภูเก็ตมีอยู่ในขณะนี้ ไปนำเสนอแก่ทางกงสุลอังกฤษประจำจังหวัดภูเก็ต ในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 9-10 ม.ค.2557 ที่โรงแรม โบ๊ท ลากูน ต.เกาะแก้ว อ.เมือง จ.ภูเก็ต

เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทางสถานทูตอังกฤษได้มาพบตน และได้นำเสนอถึงการให้การช่วยเหลือจังหวัดภูเก็ต ในเรื่องของการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ทั้งในเรื่องของการฝึกอบรมบุคลากรของหน่วยงานต่างๆ และท้องถิ่น ให้มีความรู้ ความสามารถ และมีความชำนาญในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว และการช่วยชีวิตเบื้องต้น รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทางจังหวัดภูเก็ตยังไม่มีความพร้อม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต

นายไมตรี กล่าวอีกว่า การดูแลนักท่องเที่ยวในขณะนี้ หากเป็นการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่เกิดอุบัติเหตุบริเวณชายหาด และใกล้ฝั่ง เช่น นักท่องเที่ยวจมน้ำ เจ็ตสกีเฉี่ยวชน เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของ อบจ.ภูเก็ต ที่ได้ใช้งบประมาณปีละ 22 ล้านบาท จ้างไลฟ์การ์ดมาดูแลนักท่องเที่ยวจมน้ำทุกหาด แต่หากเกิดอุบัติเหตุในทะเลเป็นการดำเนินการของทัพเรือภาค 3 และตำรวจน้ำ ซึ่งมีความพร้อมในเรื่องของเรือ การส่งต่อผู้ป่วย รวมถึง ปภ.เขต 18 อีกด้วย

ด้านนายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ. ภูเก็ต กล่าวว่า อบจ.ได้เตรียมความพร้อมในการดูแลนักท่องเที่ยวที่ลงไปเล่นน้ำ และจมน้ำในหาดท่องเที่ยวที่สำคัญๆ ของภูเก็ต โดยมีความพร้อมในเรื่องของบุคลากรไลฟ์การ์ดที่ผ่านการอบรมการช่วยชีวิต และอุปกรณ์การช่วยชีวิต ซึ่งในแต่ละปีสามารถช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจมน้ำให้รอดชีวิตได้เป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาการจมน้ำเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวนั้น เกิดจากนักท่องเที่ยวไม่เชื่อฟังคำเตือนของไลฟ์การ์ด ไม่สนใจธงแดงที่ขึ้นอยู่ตามหาด โดยคิดว่าตนเองมีความสามารถในการว่ายน้ำได้ดี เมาสุราแล้วลงเล่นน้ำ ทำให้ถูกคลื่นซัดลงไปในทะเล และเสียชีวิตในที่สุด

ขณะที่ น.อ.กฤษฎา รัตนสุภา รองผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของทัพเรือภาคที่ 3 นั้น มีศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลฝั่งอันดามัน ซึ่งมีผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 เป็น ผอ.ศูนย์ฯ ได้มีการจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2549 ขณะนี้ได้กระจายไปยังหาดท่องเที่ยวสำคัญๆ ในฝั่งอันดามันแล้ว 6 ศูนย์ ทั้ง 6 จังหวัดอันดามัน เช่น ที่หาดป่าตอง เกาะลีเป๊ะ จ.สตูล เป็นต้น โดยมีความพร้อมทั้งในเรื่องของบุคลากร อุปกรณ์การช่วยเหลือ ในการเข้าไปให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่เกิดอุบัติเหตุในทะเล และยังมีหน่วยงานต่างๆ ภายใต้ศูนย์รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศร.ชล ) เขต 3 ที่จะประสานให้การช่วยเหลือทั้ง ตำรวจน้ำ ศุลกากร เจ้าท่า ประมง เป็นต้น

พ.ต.ท.ฉัตรชัย ศักดิ์ดี สารวัตรตำรวจน้ำภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของตำรวจน้ำภูเก็ตนั้น มีความพร้อมในเรื่องของเรือตรวจการณ์ ที่จะให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่เกิดอุบัติเหตุ หากมีการร้องขอเข้ามา แต่จะมีปัญหาในเรื่องของบุคลากรที่ไม่เพียงพอ และงบประมาณด้านอื่นๆ รวมทั้งเหลือที่จอดอยู่ที่ท่าเรือรัษฎา แต่ถ้าเกิดเหตุที่ป่าตอง หรือจุดอื่นๆ ต้องใช้เวลาในการนำเรือออกไปช่วยเหลือถึงชั่วโมงครึ่ง ทำให้ไม่ทันการณ์ในการให้การช่วยเหลือ

ว่าที่ ร.ต.ตระกูล โทธรรม ผอ.ศปภ.เขต 18 ภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับ ปภ.เขต 18 นั้น ถือว่ามีความพร้อมทั้งในเรื่องของเรือเร็ว เรือยาง เสื้อชูชีพ แต่ติดขัดปัญหาขาดบุคลากร และเรือที่จอดอยู่ที่อำเภอถลาง ทำให้ไม่ทันเวลาในการให้การช่วยเหลือ ซึ่งปัญหานี้ทาง ปภ.เขต 18 กำลังของบประมาณมาดำเนินการจัดทำท่าเทียบเรือ เพื่อนำเรือของ ปภ.เขต 18 และเรือของหน่วยงานต่างๆ มาจอดไว้ในจุดที่ใกล้ๆ เพื่อให้สามารถออกไปให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที








 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น