xs
xsm
sm
md
lg

สสค.จับมือ สพป.สงขลา จัด “เวทีเสวนาเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้สัญจร” ที่หาดใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา (สพป.สงขลา) จัด "เวทีเสวนาเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้สัญจร ครั้งที่ 5 : ผู้นำการเรียนรู้สู่สังคมนักอ่าน” สพป.สงขลา เขต 2 ยกโมเดลจัดการศึกษา “ปลายด้ามขวาน “ แก้ปัญหา “อ่านไม่ออก-เขียนไม่คล่องเด็กใต้ทั้งระบบ”

วันนี้ (13 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงเรียนวัดโคกสมานคุณ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 2 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 1 จัดเวทีเสวนาวิชาการ "เวทีเสวนาเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้สัญจร ครั้งที่ ๕ : ผู้นำการเรียนรู้สู่สังคมนักอ่าน" โดยมีตัวแทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 1สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 1สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 1และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 เข้ารวมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เกียรติเป็นประธานในพื้นที่ 

นายสุรศักดิ์ อินทร์ศรีไกร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สงขลา เขต 2 กล่าวว่า ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศให้ปี 2556 เป็นปีแห่งการรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา สพป. เขต 2 จึงนำนโยบายมาสู่ภาคปฏิบัติ โดยใช้โมเดล ”การบริหารแบบปลายด้านขวาน” หมายถึงกลุ่ม 5 จังหวัดชายแดนใต้ที่อยู่ในปลายด้ามขวาน คือ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล และสงขลา โดยมี เจตนาในการจัดการเรียนการสอนอย่างไรที่จะแก้ปัญหาให้คนในพื้นที่รับรู้ รับทราบเพื่อการเรียนรู้ภาษาไทยได้อย่างดี ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สภาพปัญหา อุปสรรค จุดเด่น จุดด้อย และโอกาส มาวิเคราะห์ว่าการเรียนการสอนภาษาไทยปีนี้ที่ผ่านมาเป็นปัญหาที่ตรงไหนบ้าง
 
ดังนั้น “ สงขลา เขต 2 มีโรงเรียนที่เขตต้องดูแล จำนวน 134 แห่ง โดยเขตขอการันตีว่า ภายใน 1 ปี จะยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็ก ป.3 ป.6 และ ม.3 ร่วมทั้งส่งเสริมให้เด็กมีนิสัยการรักการอ่านได้ 100% คือการกำหนดในส่วนบทบาท แนวทางการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน ในทุกสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของผอ.เขตพื้นที่ โดยใช้จุดเน้น 3 จุด 1.สำนักงานเขตพื้นที่มีมาตรฐาน 2.การศึกษามีคุณภาพ 3.เครือข่ายสถานศึกษามีความเข็มแข็ง ซึ่งต้องนำไปสู่การปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ที่ต้องรับรู้รับทราบเป้าหมายร่วมกัน จะได้พัฒนาในแต่ละระดับอย่างไรเพื่อให้คุณภาพนักเรียนดีขึ้น ทั้งเรื่องการรักการอ่าน และผลสัมฤทธิ์ภาษาไทย “
 
นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร กล่าวต่อว่า สพป. สงขลา เขต 2 เขตพื้นที่มีการวางแผนการจัดการเชิงระบบ จัดการเรียนรู้และติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนในพื้นที่ แบบเครือข่าย 134 โรงเรียน โดยเน้นการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย โดยเฉพาะ ป.3 และ ป6 และษานิเทศที่รับผิดชอบกลุ่มสาระภาษาไทยจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้กิจกรรมรักการอ่านในแต่ละโรงเรียนมีประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้น ผลสัมฤทธิ์การเรียนของเด็กตามตัวบงชี้ (ป.3 และ ป.6) สามารถอ่านออกและสื่อสารได้

ด้านนายนายวินัย ทองรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 1 เผยว่า สพป.ตรัง เขต ๑ มุ่งเน้นการยกระดับการอ่านออก เขียนได้ของนักเรียน โดยการมีส่วนร่วมของเครือข่าย มีนวัตกรรมระดับโรงเรียนที่หลากหลาย (ตามบริบทของแต่ละโรงเรียน) ทั้งระบบคัดกรอง ระบบสอนเสริม และการจัดการเรียน และมีเครือข่ายการมีส่วนร่วม (TEMS) ประกอบด้วย สภาศึกษาจังหวัดตรัง - กลุ่มเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาการจัดการศึกษา - องค์คณะบุคคล - ศูนย์พัฒนากลุ่มสาระการเรียนรู้ การทำงานร่วมกันจำเป็นจะต้องยอมรับข้อมูลที่เป็นจริง โดยเฉพาะปัญหา มีฐานข้อมูลประกอบการหารือร่วมกันของเครือข่าย จะทำให้ได้แนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนาตัวผู้เรียนได้อย่างแท้จริง
 
ผอ.สนทยา ภัคดีวานิช ผอ.ร.ร.บ้านย่านตามขาว จ.ตรัง กล่าวว่า “นวัตกรรมสามประสานสัมพันธ์ ฉันรักการอ่าน" โรงเรียนบ้านย่านตามขาว พบว่าผู้ปกครองมีส่วนสำคัญ เพราะผู้ปกครองเป็นครูที่บ้าน และนักเรียนต้องมีหนังสือเป็นสมบัติส่วนตัวเอง และโรงเรียนมีเวทีหรือพื้นที่ ที่ให้ นักเรียนได้ทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ
 
ผอ.จันทร์เพ็ญ ศิริการญจน์ ผอ.ร.ร.บ้านห้วยม่วง จ.ตรัง เผยว่า โรงเรียนบ้านห้วยม่วง จัดทำนวัตกรรมส่งเสริมการอ่าน "รวมพลังสร้างสรรค์หนังสือสู่นิสัยรักการอ่าน" มีทั้งหนังสือหน้าเดียว และหนังสือเล่มเล็ก ซึ่งนักเรียนสนใจมากเพราะมีส่วนร่วมในการทำ ส่งผลให้เด็กอ่านออก เขียนได้ และเกิดความเข้าใจตามมา ทำให้ส่งผลดีต่อการเรียนในทุกรายวิชา
 
ด้านครูนงเยาว์ อิ่นวล ครูผู้สอน ร.ร.วัดเขากลอย จ.สงขลา กล่าวว่า โรงเรียนวัดเขากลอย มีการแก้ปัญหาการอ่านใช้แนวเดียวกับการวินิจฉัยโรค เช่น เด็กบางคนเป็น "โรค ฎ.ชฎา" คือ อ่านออกเสียง ฎ.ชฎา ไม่ชัด ทำให้การรักษา (แก้ปัญหา) และสอน ทำได้ตรงกับอาการของเด็กมากที่สุด
 
ครูระวีวรรณ หนูแก้ว ครูผู้สอน ร.ร.บ้านปะนะเระ จ.ปัตตานี กล่าวว่า การอ่านออกเขียนได้จะเน้นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและประสบการณ์จริง เช่น การอ่านฉลากยา คู่มือเครื่องใช้ หรือ การเขียนเรื่องราวจากประสบการณ์ของตนเอง ครูจะช่วยในการลำดับการอ่าน อธิบายความหมาย อย่างใกล้ชิดผ่านเกมหรือกิจกรรมอื่นๆ จน นักเรียนสามารถ อ่าน เขียน เข้าใจ ใช้ภาษาได้อย่างถูต้อง และสนุกสนาน
 
นายสินอาจ ลำพูนพงศ์ สพป. เขต ๑ เชียงใหม่ กล่าวว่า บริบทการเรียนการสอนทางเหนือและใต้ต่างกัน ที่คล้ายกันคือมีปัญหาเรื่องการสื่อสารภาษากลาง ระหว่างครูและเด็ก แต่ทางเหนือจะมีจำนวนของภาษาพูดมากกว่า "ทวิภาษา" จึงเป็นวิธีการและนวัตกรรม แก้ปัญหาการเรียนการสอนในท้องถิ่นได้ดีอีกวิธีหนึ่ง แต่ต้องใช้เวลาให้ผู้เรียนพอสมควรเพราะภาษาถิ่นเป็น "ภาษาแม่" ของเขา
 
ด้านนายอำพล พงศร สำนักการศึกษา เทศบาลนครยะลา กล่าวว่า ผู้บริหารเป็นหลักสำคัญที่ต้องส่งเสริมให้ครูไปส่งเสริมเด็กได้ โดยการให้ความสำคัญกับผู้ปกครอง "เด็กควรได้อ่านหนังสือให้ผู้ปกครองฟัง" การให้ความสำคัญกับเพื่อ "อ่านหนังสือกับเพื่อน" และให้ความสำคัญกับครูที่เด็กชื่นชอบ "อ่านกับครูที่ชอบ" ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นครูภาษาไทยก็ได้ กิจกรรมเหล่านี้ได้มากกว่าเด็กอ่านหนังสือออก ยังมีวัฒนธรรมอันดี การเรียนรู้ระหว่างกัน และความสัมพันธ์ที่ดี เพราะจากการอ่าน ฟังแล้วจะมีกิจกรรมต่อไปได้อีกหลากหลาย โดยเฉพาะพ่อและแม่ ของเด็กที่ใช้ภาษาถิ่น

รศ.ปภัสวดี วีรกิตติ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค.เผยว่า จากเวทีวันนี้พบว่า ครูมีนวัตกรรมที่น่าสนใจมากๆ หลายเรื่อง โดยเฉพาะ "ตำรารักษาโรคทางภาษาไทย" ให้กับเด็ก ภาคใต้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองดังนั้น "ตำรารักษาโรคภาษา" จะเป็นเครื่องมือในการช่วยให้ นักเรียนมุสลิมเรียนรู้ได้ดีขึ้นมาก

ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กล่าวว่า จากการทำงานในวงการศึกษามีคำถามมานานว่า "ทำไมๆๆๆๆๆ" เด็กจึงอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เชื่อว่าวันนี้มีคำตอบในหลายๆ เรื่อง และบุคลิกของครูมีส่วนช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก ดังคำที่ว่า "ทีท่าและสายตาของครูอาจทำให้ปลายประสาทของเด็กตายได้”

ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กล่าวว่า คุณครูที่มาในวันนี้เป็นครูเผ่าพันธุ์ที่สามารถขับเคลื่อนได้ เพราะเป็นสิ่งที่ทำมากับมือของครูเอง.สิ่งที่เกิดขึ้นจากเวทีนี้ทำให้พบว่ามี นยบ. ที่ดัดแปลงมาจากได้เหมาะสมกับเขตพื้นที่ได้จริง มีการเล่าสู่กันฟังด้วยภาษาเรียบง่ายไม่ต้องแปล มีกิจกรรม/นวัตกรรมที่ดีและน่าสนใจมากมาย น่าจะรวบรวมเป็นเล่มไว้ มีการเลือกจัดสรรให้เหมาะสม กับสิ่งที่ครูจะนำไปใช้ได้กับเด็กแต่ละพัฒนาการ มีการพัฒนานวัตกรรมและการต่อยอดอยู่เสมอ (กระบวนการศึกษานิเทศช่วยได้มาก) และมีการนำศิลปะพื้นบ้านมาเป็นเครื่องมือในการฝึกให้เด็กอ่านออก เชื่อว่าพื้นที่ภาคใต้ยังมีศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจมาให้เด็กได้ฝึกอีกมา ขอให้กำลังใจและขอบคุณครูทุกๆ ท่าน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น