xs
xsm
sm
md
lg

นศ.กศน.ตรังเจ๋ง! คิดสิ่งประดิษฐ์พิชิตแมลงสาบ คว้าเหรียญทองโครงงานวิทย์ระดับประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และ กศน.ตรัง สนับสนุนนักศึกษาจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์พิชิตแมลงสาบ คว้ารางวัลเหรียญทองโครงงานวิทยาศาสตร์ ประเภทสิ่งประดิษฐ์ระดับประเทศ ประจำปี 2556 เพื่อลดการใช้สารเคมี และปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์

วันนี้ (12 ธ.ค.) น.ส.มนต์สุดา เกรียงไกร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดตรัง กล่าวว่า ได้ร่วมกับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อ.วังวิเศษ จัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์พิชิตแมลงสาบขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการแก้ปัญหา และลดการแพร่ระบาดของโรค โดยการทำงานร่วมกันระหว่างครูที่ปรึกษา กับ 3 นักศึกษาคนเก่ง คือ น.ส.สรัลชนาพล สมสาย น.ส.ธนวรรณ กาลมาสม และ น.ส.กรกร แสงแก้ว ด้วยแนวคิดคือ ลดการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงสาบ และปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์

ทั้งนี้ ได้มีการนำวัสดุเหลือใช้ประเภทขวด และพลาสติกมาประดิษฐ์คิดค้นจนได้ผลงานอันยอดเยี่ยมในระดับ จ.ตรัง ไม่ว่าจะเป็นขวดโหลพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก และกรวยเยลลี่ปีโป้พลาสติก ด้วยการเจาะส่วนท้ายของขวดโหลพลาสติกให้มีระยะรัศมีห่างเท่ากัน และมีความกว้างของรูเท่ากัน จำนวน 5 ด้าน เพื่อใช้เป็นเส้นทางเข้าของแมลงสาบ แล้วนำกรวยเยลลี่มาตัดส่วนท้ายให้เป็นแฉกๆ คล้ายกับงากับดัก ของเครื่องมือจับสัตว์น้ำประเภทไซดักปลา ก่อนสวมลงไปในขวดโหลพลาสติกตามช่องที่เจาะเอาไว้ทั้ง 5 ด้าน

จากนั้น นำขวดน้ำพลาสติกชนิดสี่เหลี่ยมมาตัดแต่งให้มีขนาดเท่ากัน แล้วใช้ปืนกาวพลาสติกเชื่อมต่อระหว่างกรวยเยลลี่กับปากขวดน้ำพลาสติกให้แน่นสนิท ก่อนเปิดฝาขวดโหลพลาสติก แล้วใส่เศษอาหาร โดยเฉพาะน้ำตาล ขนมปัง หรือแมลงสาบเพศเมียลงไป เพื่อใช้เป็นเหยื่อล่อ และนำไปวางตามจุดต่างๆ ที่แมลงสาบชอบเดินผ่าน หรืออาศัยอยู่ ซึ่งผลการทดลองพบว่า สิ่งประดิษฐ์ชนิดนี้สามารถดักจับแมลงสาบได้เฉลี่ยวันละ 10 ตัว อีกทั้งยังนำไปดัดแปลงเป็นเครื่องมือดักมด และแมลงอื่นๆ ได้ดีอีกเช่นกัน

นายสุรวุฒิ ขันธ์คง ผอ.กศน.วังวิเศษ กล่าวว่า สิ่งประดิษฐ์พิชิตแมลงสาบทำขึ้นโดยใช้ต้นทุนน้อย แค่ชุดละ 30 บาท หรืออาจจะน้อยกว่านี้ด้วยซ้ำหากไปขอวัสดุเหลือใช้มาได้ฟรี ขณะที่ผู้คนทั่วไปก็สามารถเรียนรู้ขั้นตอนการทำได้รวดเร็ว นับเป็นการกำจัดแมลงสาบที่ประหยัด ปลอดภัย และช่วยลดโลกร้อน เพราะมีการนำวัสดุประเภทพลาสติกซึ่งย่อยสลายได้ยากมาประดิษฐ์ให้เกิดผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน จนส่งผลให้ได้รับรางวัลเหรียญทองในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทสิ่งประดิษฐ์ระดับประเทศ ประจำปี 2556
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น