xs
xsm
sm
md
lg

ม.อ.หาดใหญ่ จัดประชุม “แก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง” ร่วมกับนราธิวาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นราธิวาส - ม.อ.หาดใหญ่ ร่วมจัดระดมความคิดแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง กับจังหวัดนราธิวาส เพื่อรวบรวมข้อมูล หาข้อสรุปในการนำเสนอแผนหลัก และแผนปฏิบัติการการป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง หลังในพื้นที่ได้รับผลกระทบในขั้นวิกฤต เร่งแก้ปัญหาด่วน

วันนี้ (21 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมตันหยง จังหวัดนราธิวาส จัดประชุมโครงการ “จัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส” โดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 12 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2556-เดือนกันยายน 2557

สำหรับการจัดประชุมดังกล่าว เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน ให้ตรงกับความต้องการของประชาชน กลุ่มองค์กร หน่วยงานราชการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะในแต่ละพื้นที่ เพื่อคัดเลือกพื้นที่วิกฤตที่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนบริเวณพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จำนวน 5 พื้นที่ หลังจากนั้นจะมีการคัดเลือกพื้นที่วิกฤตเร่งด่วน 2 พื้นที่ เพื่อดำเนินการออกแบบรายละเอียดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเร่งด่วน และเป็นรูปธรรม โดยมี นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานการประชุม

โดยการจัดการประชุม “จัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่จังหวัดนราธิวาส” ในครั้งนี้เป็นครั้งแรก จะมีการจัดประชุมทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อรวบรวมข้อมูล และหาข้อสรุปในการนำเสนอแผนหลัก และแผนปฏิบัติการการป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

ซึ่งพื้นที่แนวชายฝั่งทะเลจังหวัดนราธิวาส มีความยาวชายฝั่งทะเลประมาณ 57.76 กิโลเมตร กำลังประสบปัญหาการกัดเซาะ มีระยะทางประมาณ 43.98 กิโลเมตร โดยมีพื้นที่กัดเซาะปานกลาง เป็นระยะทางประมาณ 15.95 กิโลเมตร พื้นที่กัดเซาะมากกว่า 5 เมตรต่อปี เป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่อาศัยทำกินหนาแน่น และมีศักยภาพสูงทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ และการดำลงชีวิตของชุมชนแล้ว สาเหตุจากธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ยังส่งผลให้เกิดการทับถมของตะกอน และเกิดการตื้นเขิน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมขนส่งทางน้ำอีกด้วย

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น