xs
xsm
sm
md
lg

พะยูนทะเลตรังลดฮวบ คาดอีก 16 ปีสูญพันธุ์แน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน นำชาวต่างชาติบินสำรวจพะยูนในท้องทะเลตรัง พบจำนวนร่อยหรอลงไปเยอะ ระบุหากเป็นเช่นนี้อีก 16 ปี สูญพันธุ์

วันนี้ (7 พ.ย.) ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน จังหวัดภูเก็ต นำโดยดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก พร้อมกับเจ้าหน้าที่ และนักบินชาวต่างชาติ ได้นำเครื่องบินมาทำการบินสำรวจพะยูนในท้องทะเลตรัง แหล่งอนุรักษ์ที่ใหญ่สุดของประเทศไทย รวมจำนวน 9 เที่ยวบิน ซึ่งถือเป็นการบินสำรวจที่ดำเนินการต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 5 แล้ว เพื่อนับจำนวนประชากรพะยูนในบริเวณแนวหญ้าทะเล รวมทั้งยังมีการบินสำรวจเชื่อมต่อไปถึงพื้นที่เกาะศรีบอยา เกาะจำ และเกาะปู จ.กระบี่ เพื่อนำข้อมูลมาพยากรณ์การเกิด และการตายของพะยูนในแต่ละปี

ดร.ก้องเกียรติ กล่าวหลังจากบินสำรวจเสร็จสิ้นแล้วว่า ขณะนี้แหล่งพะยูนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย อยู่ใบริเวณเกาะมุก และเกาะลิงบง ของจังหวัดตรัง ซึ่งจากข้อมูลการบินสำรวจย้อนหลังในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าในช่วง 3 ปีแรก มีจำนวนพะยูนคงที่ แต่ในช่วง 2 ปีหลังถึงปัจจุบัน มีแนวโน้มการตายของพะยูนสูงขึ้น ประมาณปีละ 12-15 ตัว ซึ่งมีสาเหตุการตายที่สำคัญมาจากอุบัติเหตุเครื่องมือทำประมง โดยล่าสุด สำรวจพบพะยูนจำนวนแค่ 110-125 ตัว น้อยลงกว่าปีก่อนหน้านั้น 15-20 ตัว ทั้งๆ ที่ปกติพะยูน จะตายตามธรรมชาติเฉลี่ยเพียงปีละ 4-5 ตัวเท่านั้น

ดร.ก้องเกียรติ ระบุว่า แม้ขณะนี้ชาวบ้านจะร่วมใจกันอนุรักษ์พะยูนอย่างเต็มที่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ทางจังหวัดต้องเพิ่มความเข้มแข็งในการดูแลพื้นที่มากขึ้น เพื่อลดการตายของพะยูนจากภัยคุกคามภายนอกให้เหลือศูนย์ มีการสร้างพื้นที่คุ้มครองในแหล่งอาศัย และหากิน ที่สำคัญก็คือ มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งต่อเนื่อง มิเช่นนั้นจะไม่เห็นผล ขณะที่ปัญหาการขนส่งสินค้าทางทะเลก็มีผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก เพราะจากกรณีศึกษาที่จังหวัดกระบี่ พบว่า หากมีการสัญจรทางน้ำมากๆ จะกวนตะกวนให้ขุ่นขึ้นมา รวมทั้งยังทำให้เกิดมลพิษทางเสียง และคราบน้ำมันต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ผลการบินสำรวจล่าสุดในปี 2556 ซึ่งพบพะยูนหายไปจากทะเลตรังจำนวนปีละประมาณ 12 ตัว ซึ่งหากตัวเลขการตายยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป คาดว่าภายในระยะเวลา 16 ปี พะยูนฝูงใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งอาศัยอยู่ที่ จ.ตรัง จะสูญพันธุ์หมดไปอย่างแน่นอน นอกจากจะมีการอนุรักษ์เพื่อให้พะยูนตายไปไม่เกินปีละ 6 ตัว ก็อาจทำให้พะยูนอยู่ได้นานถึง 59 ปี ก่อนที่จะสูญพันธุ์ ทั้งนี้ ข้อมูลจากการบินสำรวจย้อนหลัง 3 ปี โดยปี 2554 พบพะยูน 134-150 ตัว ปี 2555 พบพะยูนลดลงเหลือ 110-135 ตัว และเป็นปีที่มีอัตราการตายสูงมาก 11-12 ตัว ส่วนล่าสุด พบพะยูนลดลงเหลือ 110-125 ตัว
   

กำลังโหลดความคิดเห็น