xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลปากรตรวจสอบภาพวาดอายุกว่าสามพันปีในถ้ำมโนราห์ จ.กระบี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระบี่ - เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เข้าตรวจสอบภาพเขียนสีโบราณ ภายในถ้ำมโนราห์ และถ้ำช้างนอก บ้านเขากลม ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก ระบุเป็นภาพวาด้วยสีจากยางไม้ อายุกว่า 3,000 ปี เกิดขึ้นในยุคหินใหม่ พร้อมเตรียมประกาศเป็นแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเตรียมนำข้อมูลเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกเลิกเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม

เวลา 13.30 น. วันนี้ (29 ต.ค.) นายสมชาย ณ นครพนม นักโบราณคดีทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร พร้อมด้วย นางเรียม พุ่มพงศ์แพทย์ ผู้อำนวยการสำนักกรมศิลปกรที่ 15 ภูเก็ต นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร อดีตกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองกระบี่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ และชาวบ้านเขากลม ม.2 ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ได้เข้าตรวจสอบภาพเขียนสีโบราณภายในถ้ำมโนราห์ บ้านเขากลม หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า มีการพบร่องรอยภาพเขียนสีจำนวนมาก ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน พร้อมทำการคัดลอกภาพเขียนสีโบราณที่ค้นพบนำกลับไปศึกษาวิเคราะห์ และเตรียมประกาศเป็นแหล่งโบราณคดีทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดกระบี่

นายสมชาย ณ นครพนม นักโบราณคดีทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร กล่าวว่า จาการสำรวจภายในถ้ำมโนราห์ พบว่า บริเวณผนังถ้ำ สูงจากพื้นประมาณ 2-3 เมตร มีภาพเขียนสี ลายจุด และรูปทรงเรขาคณิตจำนวนมาก ซึ่งแต่ละภาพยังสามารถมองเห็นได้ชัดเจน โดยภาพที่ค้นพบนั้นคาดว่าเป็นการสื่อสารในลักษณะของสัญลักษณ์บางอย่าง ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันของกลุ่มชนในสมัยนั้น โดยความเก่าแก่ของภาพคาดว่ามีอายุไม่น้อยกว่า 3,000 ปี ซึ่งอยู่ในยุคหินใหม่ โดยสีที่ใช้เขียนนั้นสันนิษฐานได้ว่า เป็นการเขียนด้วยสีจากยางไม้บางชนิด ซึ่งทำให้มีความคงทนจนถึงปัจจุบันนี้ และหลังจากนี้ ก็จะทำการสำรวจเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจนก่อนที่จะประกาศเป็นแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า บริเวณถ้ำมโนราห์ ที่นอกจากค้นพบภาพเขียนสีโบราณแล้ว ยังพบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา แต่มีสภาพไม่สมบูรณ์ สภาพแตกละเอียด และเศษกระดูก ซึ่งในเบื้องต้นยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกระดูกของคน หรือสัตว์ แต่คาดว่าภายในถ้ำมโนราห์เคยเป็นที่อยู่อาศัยของคนยุคหินใหม่มาก่อน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการอยู่ถาวร หรือมาพำนักอาศัยเพื่อทำการล่าสัตว์ชั่วคราว ในเบื้องต้น ได้เก็บตัวอย่างกลับไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง และว่าเป็นที่น่าเสียดายที่หลักฐานบางอย่างภายในถ้ำลูกทำลายไปอาจจะเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งก็ได้ฝากให้ชาวบ้านช่วยกันสอดส่องดูแลก่อนที่จะมีการประกาศเป็นแหล่งโบราณคดี

นายสมชาย ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนในกรณีที่ชาวบ้านเขากลม ได้เรียกร้องให้ทางกรมศิลปากร ยกเลิกพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมนั้น เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้มีการประกาศเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม และในเบื้องต้น ก็ได้มีผู้สัมปทานไปแล้ว แต่อยู่ระหว่างการคัดค้านของชาวบ้าน โดยทางกรมศิลปากรจะนำข้อมูลทั้งหมดที่ค้นพบนำไปเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศยกเลิกต่อไป



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น