xs
xsm
sm
md
lg

ร้อง ศอ.บต. “ฟัน” นายอำเภอรับเงินบรรจุ อส. 7 หมื่นบาทต่อหัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – มีการเปิดเผยข้อมูลร้อง ศอ.บต. “ฟัน” นายอำเภอจังหวัดชายแดนใต้ รับเงินใต้โต๊ะบรรจุ อส. 30,000-70,000 บาทต่อหัว พร้อมเสนอให้ใช้ “พ.ร.บ.ศอ.บต.” ตรวจสอบข้าราชการเช้าชามเย็นชาม รวมทั้งผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน และสร้างเงื่อนไขต่อประชาชนในพื้นที่

ที่ห้องประชุมโออาร์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา ได้มีการประชุมคณะทำงานด้านความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษาของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความความมั่นคง โดยมีนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม เพื่อแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน

ทั้งนี้ มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรายงานให้ทราบว่า ในการรับสมัครอาสาสมัครของกรมการปกครอง จำนวน 1,800 คน เพื่อบรรจุเป็นกำลังรักษาความสงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการร้องเรียกจากประชาชนในพื้นที่ถึงความไม่โปร่งใส โดยมีข้อมูลว่าในหลายอำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้สมัครต้องจ่ายเงินรายละ 30,000-70,000 บาท เพื่อให้ได้รับการคัดเลือกให้เป็น อส.ในอำเภอนั้นๆ จึงต้องการให้มีการตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะถ้าผู้ที่สมัครเข้าทำหน้าที่ อส.ประจำอำเภอ ต้องจ่ายเงินในการสมัคร เกรงว่า อส.เหล่านี้จะเข้าไปเพื่อหาผลประโยชน์ ทำให้การทำหน้าที่รักษาความสงบเสียหาย

นอกกจากนั้น ในที่ประชุมยังเปิดเผยว่ามีข้าราชการที่ประพฤติมิชอบ ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ที่ยังสร้างเงื่อนไขในพื้นที่ ซึ่งต้องการให้ ศอ.บต. ตรวจสอบ และดำเนินการเอาผิด และย้ายออกนอกพื้นที่เหมือนกับในอดีต ซึ่งสามารถแก้ปัญหาข้าราชการที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่เพื่อต้องการ “สิทธิกำลังพล” และขั้นทวีคูณ แต่ไม่มีความตั้งใจในการทำหน้าที่

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล ประธานในที่ประชุมกล่าวว่า จะนำเรื่องที่คณะกรรมการแจ้งให้ทราบเสนอต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อที่จะได้แก้ปัญหา สำหรับเรื่องการให้ ศอ.บต. ใช้ พ.ร.บ.ศอ.บต. ในการตรวจสอบ และโยกย้ายข้าราชการในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ รวมทั้งข้าราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และสร้างเงื่อนไขในพื้นที่นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ต่างมีความเห็นว่า ศอ.บต. ควรเข้าไปดำเนินการ เช่นที่ในอดีตเคยมีการย้ายข้าราชการเหล่านี้ออกจากพื้นที่เพื่อเป็นการแก้ปัญหา จนทำให้ปัญหาข้าราชการ “เกียร์ว่าง” และสร้างเงื่อนไขคลี่คลายไปในระดับหนึ่ง ทำให้ปัญหาต่างๆ สามารถแก้ไขได้ในที่สุด
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น