โดย...รศ.ประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา
วันนี้ (22 ต.ค.) มีการประชุมวุฒิสภาประจำสัปดาห์เป็นวันที่สอง (วุฒิสภาจะประชุมทุกวันจันทร์ และวันอังคาร ส่วนสภาผู้แทนจะประชุมทุกวันพุธ และพฤหัส) ก่อนการประชุมตามวาระ ประธานได้ให้ ส.ว.นำปัญหาเข้าหารือเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาล วันนี้มี ส.ว.นำเรื่องเข้าหารือ 12 เรื่อง ผมขอยกมาเป็นตัวอย่างเฉพาะ 5 เรื่องแรกคือ
1.นางนฤมล ศิริวัฒน์ เรื่อง “ขอความชัดเจนการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวฤดูกาลนี้”
2.นายวิบูลย์ คูหิรัญ เรื่อง “ข้อคิดเพิ่มเติมการทำ PDP 2013”
3.ผศ.วรวิทย์ บารู เรื่อง “กองทุนเงินยืมเพื่อการศึกษา”
4. รศ.ประเสริฐ ชิตพงศ์ เรื่อง “ติดตามความก้าวหน้าการแก้ปัญหาบริเวณป่าสงวนทุ่งบางนกออก ต.ควนโส อ.ควนเนียง จ.สงขลา”
5.พ.ต.อ.พายัพ ทองชื่น เรื่อง “น้ำท่วมสระแก้ว”
ผมยกประเด็น “ป่าสงวนทุ่งบางนกออก” ต.ควนโส อ.ควนเนียง ขึ้นมาหารือ เพราะเมื่อต้นปีนี้ผมได้ยกเรื่องนี้มาหารือครั้งหนึ่งแล้ว เพื่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงคมนาคม เข้าไปดูแลแก้ปัญหา ซึ่งปรากฏว่า ทั้ง 2 กระทรวงได้เข้าไปดำเนินการตามที่ผมได้หารือแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร จึงต้องยกประเด็นมาหารือซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
ท่านอาจสงสัยว่า มีอะไรสำคัญที่ป่าสงวนทุ่งบางนกออก ต.ควนโส อ.ควนเนียง จ. สงขลา จนถึงขั้นผมต้องยกเรืองเป็นประเด็นหารือในวุฒิสภา ก็ขอเรียนว่า...
ป่าสงวนแห่งนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ประเภทป่าเสม็ดที่สำคัญ และสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีไม้เสม็ด ทั้งเสม็ดแดง และเสม็ดขาว ขึ้นอยู่หนาแน่น เป็นพรรณไม้หลักของป่าสงวนแห่งนี้ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 7,000 ไร่ โดยมีคลองจ่าเป็นสายน้ำหลักที่ไหลผ่าน
เป็นป่าเสม็ดที่เป็นแหล่งผลิตน้ำผึ้งจากดอกเสม็ดในธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบป่าแห่งนี้ ได้อาศัยเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งจากธรรมชาติ โดยมีการจัดการเสริมให้ผึ้งได้สร้างรัง และมีการเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งอย่างเป็นระบบ สร้างรายได้ และชื่อเสียงให้แก่ชุมชนเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังนี้ได้เริ่มมีปัญหาการบุกรุกเข้าไปถางป่าตัดต้นเสม็ดเพื่อขายเป็นไม้ฟืน และการเผาป่า ทำให้ป่าเสื่อมโทรม และได้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เสื่อมโทรมเป็นสวนปาล์มน้ำมัน รวมทึ้งพื้นที่บางส่วนมีความแห้งแล้ง เพราะคลองย่อยบางสายของคลองจ่าตื้นเขิน
ชุมชน และทางอำเภอควนเนียงได้ร้องเรียนไปทางกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพย์ฯ เพื่อให้เข้ามาดูแลเรื่องแนวเขต และแก้ปัญหาการบุกรุก และไปทางกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เพื่อให้มาขุดลอกคลองที่ได้ทำค้างไว้ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า
จึงได้ประสานมาทางผมในฐานะ ส.ว.สงขลา และในฐานะที่ผมนั้นเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบติดตามการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาของวุฒิสภา
ในช่วง 2 ปีแรกของการเป็น ส.ว. ผมจึงได้นำเรื่องนี้เข้าหารือในการประชุมวุฒิสภา ทำให้ทั้ง 2 กระทรวงได้เข้ามาติดตามเรื่องนี้ในพื้นที่ในระดับหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับพบว่า ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ผมจึงได้นำเรื่องนี้เข้าหารือในวุฒิสภาอีกครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (22 ต.ค.) เพื่อให้กระทรวงทรัพย์ฯ และกระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงเหตุของความล่าช้า และเร่งรัดให้ทั้ง 2 กระทรวงได้รีบเข้าไปดำเนินการแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน
ปกติแล้วผมจะยกประเด็นปัญหาเข้าหารือในการประชุมวุฒิสภา ก่อนการประชุมตามวาระ เฉลี่ยเดือนละ 2-3 เรื่อง ตกปีละประมาณ 20 เรื่อง (สภาประชุมปีละ 9 เดือน) เรื่องที่หารือจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
ประเภทที่เป็นภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งผมจะเน้นไปในเรื่องที่ผมถนัด และรับผิดชอบอยู่ในสภา เช่น การศึกษา เกษตร ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
และประเภทปัญหาเฉพาะ เช่น เฉพาะถิ่น เฉพาะปัญหา หรือเฉพาะเรื่อง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผมเป็นประธาน หรือรองประธานกรรมาธิการวิสามัญ เช่น เรื่องยาง ทะเลสาบสงขลา และปัญหาชายแดนใต้ หรือเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่เกิดขึ้น ซึ่งเน้นที่เกิดขึ้นในภาคใต้เป็นหลักครับ
ในอดีตที่ผ่านมา ผมอาจไม่ได้บอกเล่าว่าผมได้ทำอะไรในการประชุมวุฒิสภา (จันทร์, อังคาร) หรือในฐานะกรรมาธิการ (พุธ, พฤหัสฯ) เพราะไม่ได้เข้ามาในเฟซบุ๊ก ปรากฏตามสื่ออยู่บ้างทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ (ส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ) และทีวีในบางเรื่อง และบางโอกาส
เมื่อเข้าถึงเฟซบุ๊กได้ จึงขอใช้โอกาสนี้ได้รายงาน และรับทราบปัญหาจากท่านทั้งหลาย เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพครับ
(ที่มา : เฟซบุ๊ก Prasert Chitapong https://www.facebook.com/prasert.chittapong/posts/168578246679655)