ตรัง - ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามโครงการแก้ปัญหายางพารา ปี 2557 โดยเฉพาะปัญหาเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ แต่ต้องการขอความช่วยเหลือจากทางรัฐบาลด้วย
วันนี้ (21 ต.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดตรัง นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายวิทยา ฉายสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายบุญเจือ สมทิพย์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง นายภาณุมาศ ตั้นซู่ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดตรัง และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ร่วมกันประชุมติดตามการดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐบาล
เนื่องจากทางรัฐบาลได้กำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรตามแนวทางของโครงการสำคัญทั้ง 2 โครงการ คือ โครงการแก้ปัญหายางพารา ปี 2557 และโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม หรือโซนนิ่งภาคเกษตรนั้น ได้มีผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดตรังอย่างมาก เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพหลักด้านการเกษตร ทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง โดยเฉพาะการทำสวนยางพารา
สำหรับจังหวัดตรัง มีเป้าหมายเกษตรกร 68,735 ราย เนื้อที่เพาะปลูก 1,615,729 ไร่ เนื้อที่กรีด 1,353,331 ไร่ และมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนแล้ว 58,230 ราย โดยทางสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางพาราจังหวัดตรัง จะนำรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับแจ้งจากเกษตรอำเภอ มาตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีด จำนวน 32,709 ราย ได้ตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีดไปแล้ว จำนวน 5,273 ราย และล่าสุด มีการออกใบรับรองไปแล้ว 932 แปลง โดยทาง ธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรไปแล้ว จำนวน 419 ครัวเรือน 484 แปลง เป็นเงิน 6,783,210 บาท
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผลจากการตรวจติดตามโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 ของ 5 จังหวัดภาคใต้ คือ ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และระนอง พบว่ามีปัญหาการตรวจสอบเอกสารสิทธิของเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่เอกสารค่อนข้างไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงต้องมีการนำข้อมูลมาตรวจสอบใหม่อีกครั้งหนึ่ง และเป็นสาเหตุให้การดำเนินงานเกิดความล่าช้า สำหรับในส่วนการตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีดนั้น ขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานหมู่บ้านเพิ่มเติมเพื่อความรวดเร็วในการทำงาน
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ในภาพรวมว่าการบันทึกข้อมูลจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน และมีการตรวจสอบเสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ แต่ในส่วนของเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธินั้น ตอนนี้ยังคงมีปัญหาในเรื่องการตรวจสอบแปลง เฉพาะในจังหวัดตรัง มีพื้นที่ปลูกยางพาราไม่มีเอกสารสิทธิ ประมาณ 200,000 ไร่ โดยเฉพาะตามเกาะแก่ง และตามแนวบนเทือกเขาบรรทัด รอยต่อระหว่างจังหวัดตรัง กับพัทลุง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะนำข้อมูลเสนอไปยังทางรัฐบาลเพื่อหาแนวทางและวางแผนแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้อีกครั้ง
ด้าน นายภาณุมาศ ตั้นซู่ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดตรัง กล่าวว่า ในเรื่องของระบบการจ่ายเงินของ ธ.ก.ส.นั้น ไม่มีปัญหา เนื่องจากทาง ธ.ก.ส.ได้มีการวางแผน และวางระบบการจ่ายเงินที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกร โดยทาง ธ.ก.ส.หลังจากที่ได้รับข้อมูลก็จะทำการโอนเงินให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 วัน ด้วยการใช้ระบบ Spin และมีการตรวจเช็กข้อมูลถึงวันละ 4 รอบ เพื่อทำการโอนเงินให้แก่เกษตรกรตามเป้าหมายต่อไป