พัทลุง - เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงพัทลุง-สงขลา ลงพื้นที่ อ.ควนขนุน เก็บรวบรวมอวนปลาบึก รวมความยาว 51.5 กม. ก่อนเผาทำลายทิ้งเนื่องจากเป็นต้นเหตุติดอันดับ 1 ในการตายของโลมาอิรวดี พร้อมเตรียมจ่ายเงินชดเชยแก่ชาวบ้านประมาณ 932,000 บาท
เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (10 ต.ค.) นายจำนง กลายเจริญ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงพัทลุง-สงขลา พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้ากว่า 10 นาย ลงพื้นที่ ม.1 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เพื่อเก็บรวบรวมอวนปลาบึก ที่เป็นต้นเหตุติดอันดับ 1 ในการตายของโลมาอิรวดีที่เหลืออยู่ประมาณ 25-30 ตัว ในทะเลสาบพัทลุง-สงขลา
นายจำนง กลายเจริญ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงพัทลุง-สงขลา กล่าวว่า วันนี้ตน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ได้เร่งเก็บอวนปลาบึกจากชาวบ้าน จำนวน 25 ราย รวมอวน 1,473 ผืน คิดเป็นความยาว 51.5 กม. มูลค่าที่จะต้องทำการชดเชยแก่ชาวบ้านประมาณ 932,000 บาท และจะทำการมอบเงินในพิธีทอดผ้าป่า วันเสาร์ที่ 12 ต.ค. ที่จะถึงนี้ ส่วนอวนปลาบึกที่ได้มาก็จะทำการเผาทำลายทิ้งเพื่อแก้ปัญหาการเสียชีวิตของโลมาอิรวดี
ด้านนายสมใจ รักษ์ดำ อายุ 66 ปี ประธานเครือข่ายอนุรักษ์โลมาอิรวดี อยู่บ้านเลขที่ 135 ม.1 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กล่าวว่า ในอดีตเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ตนเคยมีอาชีพวางอวนปลาบึกขาย แต่ด้วยสำนึกในทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่งอย่างโลมาอิรวดี ซึ่งเป็นราชินีแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบพัทลุง-สงขลา ที่มีเหลืออยู่ในจังหวัดพัทลุงพัทลุงติด 1 ใน 5 ของโลกเท่านั้น จึงวางมือพร้อมผันตัวเองมาเป็นนักอนุรักษ์แทน ปัจจุบัน ตนมีอวนปลาบึกที่เก็บไว้ในโอ่งปิดฝาไว้อย่างดี ทั้งใหม่ และเก่า จำนวน 45 ผืน และไม่เคยนำออกมาวางปลาบึกเลยเป็นเวลา 2 ปีแล้วด้วยเช่นกัน ล่าสุด วันนี้ได้ส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงพัทลุง-สงขลา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในขณะเดียวกัน ตนพร้อมเครือข่ายอนุรักษ์โลมาอิรวดีได้ตั้งกติกาใหม่ให้ชาวประมงทั้งลุ่มน้ำทะเลสาบพัทลุง-สงขลาใช้กัน คือ ห้ามนำอวนที่มีตาขนาดใหญ่ประมาณ 15 ซม.ขึ้นไป มาใช้อย่างเด็ดขาด แต่อนุญาตให้ใช้อวนขนาด 3.5-14 ซม.เท่านั้น
ขณะที่ นายสุชาติ สุวรรณกาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมส่วนราชการ พ่อค้า นักเรียน นักศึกษา ตลอดถึงประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันจัดพิธีทอดผ้าป่ามหากุศล ในวันเสาร์ ที่ 12 ต.ค. 2556 พร้อมเปิดบัญชี ชื่อกองทุนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบพัทลุง-สงขลา เลขที่ 981-8-40956-6 ธนาคารกรุงไทย สาขาท่ามิหรำ เพื่อนำรายได้ทั้งหมดมาพัฒนากิจกรรมโลมาในทุกรูปแบบ ตลอดถึงการแก้ปัญหา และอุปสรรค พร้อมส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวทั้งระบบ เพราะวันนี้โลมาอิรวดี ราชินีแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบพัทลุง-สงขลา สัตว์ป่าคุ้มครอง ยังคงเหลือติดอันดับ 1 ใน 5 โลก