xs
xsm
sm
md
lg

อดีตนายหนังตะลุงพิการสู้ชีวิต แกะรูปหนังด้วยมือและเท้าเพียงข้างเดียว (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อดีตนายหนังตะลุงพิการสู้ชีวิต ใช้ภูมิปัญญา และประสบการณ์ที่สั่งสมมาแกะตัวหนังตะลุงด้วยมือ และเท้าเพียงข้างเดียวอย่างประณีตสวยงาม อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาวใต้ รับออเดอร์จากลูกค้า และออกจำหน่ายในงานต่างๆ



 

 
นายกอบไชย หัชบูรณ์ อายุ 48 ปี หรือพี่เอียด ชาวบ้านในบ้านต้นตอ หมู่ 7 ต.รัตภูมิ อ.ควนเนียง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ซึ่งป่วยเป็นอัมพฤกษ์ ร่างกายซีกขวาขยับไม่ได้มานาน 5 ปี ได้ใช้ทักษะฝีมือแกะรูปตัวหนังตะลุงด้วยมือ และเท้าเพียงข้างเดียวอย่างชำนาญ ได้ชิ้นงานรูปตัวหนังตะลุงที่มีลวดลายสีสันสวยงาม และรายละเอียดครบถ้วนตามเอกลักษณ์ของรูปหนังตะลุง แต่ละตัวไม่แตกต่างจากที่คนมือเท้าดีประดิษฐ์ขึ้นมา
 



 
โดยรูปตัวหนังที่ตะลุงที่ “พี่เอียด” ประดิษฐ์ขึ้นมาจะเน้นตัวหนังตะลุงที่ใช้สำหรับเป็นของที่ระลึก เช่น พวงกุญแจ หรือนำไปประดับโชว์ตามบ้าน โดยเฉพาะตัวตลกซึ่งชาวบ้านที่ชอบดูหนังตะลุงรู้จักกันดี เช่น รูปหนูนุ้ย ไอ้เท่ง ไอ้สะหม้อ ไอ้เมือง ไอ้แก้ว และไอ้ยอดทอง ซึ่งจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทั่วไป แต่ที่แตกต่างคือ พี่เอียดจะดัดแปลงตัวตลกเหล่านี้ออกมาในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เหมือนใคร เช่น ท่วงท่าศิลปะการรำมวยไทยเพื่อให้น่ารัก และน่าสนใจมากขึ้น โดยชิ้นงานที่ประดิษฐ์ขึ้นมาจะมีทั้งที่ลูกค้าสั่งทำ และนำออกไปขายเองตามงานต่างๆ ราคาตั้งแต่ตัวละ 15 บาท ถึง 350 บาท
 



 
สำหรับการแกะรูปตัวหนังตะลุงของพี่เอียดนั้น แม้จะใช้มือ และเท้าซ้ายเพียงข้างเดียวในการลงมือทำ และลงสี แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะการตอกลายซึ่งต้องมีความชำนาญ และความประณีตเป็นพิเศษ พี่เอียดจะใช้เท้าคีบเหล็กตอกลาย และใช้มือถือค้อนตอกลงไป แม้จะช้ากว่าคนปกติบ้างก็ตาม ยิ่งรูปตัวหนังตะลุงเล็กเท่าไหร่ก็ต้องยิ่งใช้ความละเอียดมากขึ้นตามไปด้วย เพราะจะแกะยากกว่าตัวใหญ่ โดยแต่ละวันพี่เอียดจะประดิษฐ์ตัวหนังตะลุงได้ประมาณ 10-20 ตัว โดยขึ้นอยู่ความยากง่าย
 


 
นายกอบไชย หรือพี่เอียด เปิดเผยว่า รักและซึมซับสายเลือดความเป็นหนังตะลุงมาตั้งแต่เด็กๆ เนื่องจากพ่อคือ นายเอี่ยม หัชบูรณ์ ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เป็นหนึ่งในสามของนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงที่สุดของ อ.ควนเนียง จ.สงขลา และในภาคใต้ รู้จักกันในนามของ “หนังเอี่ยม อ้ายหนูนัด” และตนได้สืบทอดคณะหนังตะลุงของพ่ออยู่หลายปี กระทั่งเมื่อช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้ล้มป่วยด้วยโรคอัมพฤกษ์ ร่างกายซีกขวาขยับไม่ได้ จึงผันตัวเองมาประดิษฐ์รูปหนังตะลุงแทน เพื่ออนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านของชาวใต้เอาไว้ แม้จะไม่สามารถออกแสดงได้แล้วก็ตาม ทั้งนี้ ปัจจุบันพี่เอียดยังเป็นหนึ่งในสมาชิกชมรมหนังตะลุงพื้นบ้านศรีวิชัยควนเนียงด้วย






 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น