ในช่วงปี 2555-2556 นี้ ถือเป็น “ช่วงวิกฤตช่วงหนึ่งของพะยูน” สัตว์อนุรักษ์ชื่อดังของจังหวัดตรัง หลังจากที่พบว่ามีการตายลงไปไม่น้อยกว่า 25 ตัวแล้ว
ทั้งนี้ สาเหตุส่วนใหญ่ของความสูญเสียมักจะมาจากเครื่องมือประมง โดยเฉพาะเบ็ดราวไว และอวนปลากระเบน ซึ่งเมื่อไปเกี่ยว หรือพันเข้าทำให้พะยูนไม่สามารถขึ้นมาหายใจได้จนสำลักน้ำ และตายในที่สุด
แม้พื้นที่โดยรอบเกาะลิบง แหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนที่ใหญ่สุดของไทยในเวลานี้ จะถูกประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์ แต่ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของกุ้งหอยปูปลา จึงทำให้ชาวบ้านบางคนยอมลักลอบเข้ามาทำประมง จนส่งผลรบกวนต่อพะยูน และสัตว์ทะเลหายากนานาชนิด
ดังนั้น ตัวแทนชาวบ้านริมชายฝั่งจึงได้เสนอ 4 มาตรการหลัก ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้กำหนดเขตวิ่งเรือโดยสาร เขตใช้เครื่องมือประมง เขตเศรษฐกิจชุมชน และเขตอนุรักษ์สำหรับพะยูน สัตว์ทะเลหายาก รวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพอย่างชัดเจน
นายยะสาด อวนข้อง แกนนำนักอนุรักษ์เกาะลิบงระบุว่า พวกตนคงไม่สามารถปกปักรักษาสัตว์ทะเลเหล่านี้เอาไว้ได้ หากทุกฝ่ายไม่เข้ามาช่วยกัน มิเช่นนั้น อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ก็คงสูญพันธุ์ไปหมดสิ้น
ส่วน นายอิสมาแอน เบ็ญสะอาด แกนนำชมรมการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ชุมชนเกาะลิบง มองว่า ในปี 1-2 ปีนี้ ถือเป็นช่วงที่วิกฤตที่สุดของพะยูน สัตว์อนุรักษ์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดตรัง เนื่องจากได้พบการตายลงไปเป็นจำนวนมาก สวนทางกับการพยายามจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์
ทั้งนี้ พะยูนที่ตายลงไปจะมีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 1-20 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดมาจากปัญหาเดิมๆ เรื่องเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย เช่น อวนปลากระเบน หรือเบ็ดราวไว โดยเจ้าหน้าที่ก็มีข้อมูลที่ชัดเจนแต่ไม่อาจดำเนินการอะไรได้ อันเนื่องมาจากปัญหาการทำงานที่ซับซ้อนของหลายหน่วยงาน ประกอบกับความไม่จริงใจ หรือการใส่เกียร์ว่าง รวมทั้งอาจจะมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ยังคงพบเห็นพะยูนต้องตายลงไปด้วยสาเหตุเหล่านี้
ด้าน นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงสถานการณ์พะยูนในปัจจุบันว่า มีแนวโน้มที่ค่อนข้างจะวิกฤต ซึ่งส่วนใหญ่จะตายมาจากการใช้เครื่องมือการทำประมงประเภทอวน
เนื่องจากสถานการณ์ของการคุกคามได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เลวร้ายมากขึ้น แม้จะมีหน่วยงานด้านอนุรักษ์ และมีกฎหมายมากมายเพียงใด แต่หากไม่มีแกนนำหลัก หรือมีแผนงานที่กำหนดมาตรการในระยะยาวอย่างชัดเจน ทั้งพะยูน และทรัพยากรทางทะเลต่างๆ ก็จะถูกทำลายจนหมดไป
ขณะที่องค์กรภาคประชาชนอย่าง นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิอันดามัน ก็เห็นว่า ในเมื่อปัญหาพะยูน และสัตว์ทะเลหายาก เกิดมาจากคน ฉะนั้น จึงต้องไปแก้ปัญหาที่คน และการคุ้มครองพื้นที่ โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นร่วมกัน
ตัวเลขของพะยูนที่เคยมีเหลืออยู่ 150 ตัว กำลังสุ่มเสี่ยงต่อการร่อยหรอลงไป ท่ามกลางการแย่งชิงทรัพยากรทางทะเลที่รุนแรงขึ้นทุกวัน จนอาจทำให้สัตว์อนุรักษ์ชื่อดังชนิดนี้ เหลือเพียงแค่ชื่อในอนาคตอันใกล้