xs
xsm
sm
md
lg

สกว.เปิดเวทีนำเสนองานวิจัยแนะทางแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง จ.สงขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สกว. จับมือหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จัดประชุมระดมสมองหาแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งใน จ.สงขลา เพื่อเสนอข้อมูลวิจัยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งนักวิชาการเสนอแนะ 2 แนวทาง คือ เติมทราย ใช้มาตรการถอยร่น และสร้างโครงสร้างแข็งกันคลื่น

วันนี้ (30 ก.ย.) ที่โรงแรมมังคลา พาวีเวียน บีช อ.เมือง จ.สงขลา สำนักประสานงาน ชุดโครงการ “การวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับจังหวัดสงขลา จัดการประชุมเพื่อระดมสมองในหัวข้อ “แนวทางการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง : กรณีจังหวัดสงขลา” ขึ้น เพื่อนำเสนอรูปแบบการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งผ่านข้อมูลงานวิจัยให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้บูรณาการแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยมีนายพิรสิญจ์ พันธ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดงาน

สืบเนื่องจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลเป็นปัญหาใหญ่ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น สร้างความวิตกกังวล และส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งทะเลอย่างยิ่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน ที่ดิน อาคารสิ่งปลูกสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงส่งผลกระทบต่อทางด้านสภาพแวดล้อมทางทะเล และชายฝั่ง ได้แก่ ชายหาด เนินทราย ป่าชายเลน และทัศนียภาพชายฝั่ง

ทั้งนี้ การกัดเซาะชายฝั่งทะเลเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสคลื่น ลม ระดับน้ำทะเล ซึ่งปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้นด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น การบุกรุกป่าชายเลน ความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง การปรับถมพื้นที่ชายฝั่ง การก่อสร้างโครงสร้างชายฝั่งที่ไปกีดขวาง หรือปรับเปลี่ยนทิศทางกระแสน้ำ การลดลงของโคลมตม และมวลทรายที่ไหลลงสู่ทะเล การทรุดตัวของแผ่นดิน รวมถึงปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นตัวการสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทุกๆ ปี

โดยข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (2554) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2495-2551 จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ถูกกัดเซาะไปแล้วทั้งสิ้น 6 อำเภอ 28 ตำบล (จากจำนวน 16 อำเภอ 127 ตำบลของทั้งจังหวัด) เป็นแนวชายฝั่งถูกกัดเซาะในระดับรุนแรง 13.43 กม. ระดับปานกลาง 41.09 กม. รวม 54.52 กม. จัดเป็นจังหวัดที่แนวชายฝั่งถูกกัดเซาะเป็นอันดับ 4 ของทั้งประเทศรองจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ และปัตตานี ตามลำดับ

และแม้ว่าจะมีงานวิจัยศึกษาในประเด็นนี้เป็นจำนวนมาก แต่ผลงานวิจัยก็ให้ข้อมูลที่แตกต่างกันไป ดังนั้น เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหามีข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับการตัดสินใจ สกว.จึงจัดการประชุมครั้งนี้ขึ้นเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับใช้ในการแก้ปัญหา รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างเครือข่ายนักวิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาชน

โดยมีการนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์ และแนวทางแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง หัวข้อสถานการณ์และแผนการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของภาครัฐ โดยนางจินตวดี ทิพยเมธากุล ผู้อำนวยการ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา ปัญหาและสาเหตุของการสูญเสียหาดทราย จ.สงขลา และการศึกษาเบื้องต้น เพื่อกำหนดระยะถอยร่นสำหรับชายฝั่งทะเลในประเทศไทย พื้นที่จังหวัดสงขลา โดย ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นโยบายสาธารณะเพื่อการใช้ประโยชน์หาดทรายอย่างยั่งยืน (กรณีศึกษาหาดสมิหลา-หาดชลาทัศน์) โดย ผศ.กัลยาณี พรพิเนตรพงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ การแก้ปัญหาหาดชลาทัศน์เชิงบูรณาการ โดย ผศ.พยอม รัตนมณี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ การศึกษาบูรณาการเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลจังหวัดสมุทรปราการ : กรณีศึกษานำร่องเพื่อการออกแบบ ณ บ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ โดย ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองและใช้ประโยชน์จากหาดทราย บริเวณชายทะเลฝั่งอ่าวไทยภาคใต้ตอนล่าง โดย อ.อารยา สุขสม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการที่มานำเสนองานวิจัยในวันนี้มีความเห็นแตกต่างกันเป็น 2 แนวทาง คือ มีการเสนอว่าควรจะแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยการรื้อระบบโครงสร้างแข็ง และแก้ปัญหาชายหาดถูกกัดเซาะด้วยการเติมทราย ซึ่งสอดคล้องกับกลไกของระบบนิเวศชายฝั่ง ที่มีการกวาดทรายลงสู่ทะเลในฤดูหนึ่ง และพัดทรายมาเติมหาดในอีกฤดูหนึ่ง ในขณะที่นักวิชาการบางส่วนเสนอแนะว่า ควรจะสร้างที่ดักตะกอนบริเวณชายฝั่งให้ยื่นออกไปในทะเล เพื่อชะลอความแรงของคลื่น รวมทั้งวางปะการังเทียมกันคลื่น และสร้างเขื่อนกันคลื่นใต้น้ำซึ่งเป็นโครงสร้างแข็ง



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น