xs
xsm
sm
md
lg

มาแล้วโว้ย....!! “ขึ้นโขนชิงธง” หนึ่งเดียวในสยามสืบทอดมรดก 170 ปี ลุ่มน้ำหลังสวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตุ่ม ตุ้ม ตุ่ม ม๊อง !! แรมค่ำ เดือนสิบเอ็ด ของทุกปี ชวนกันไปเชียร์เรือแข่ง “นายหัวเรือทิ้งพาย คลานออกโขน” เพื่อชิงธงคว้าชัยชิงโล่ และถ้วยพระราชทาน ในงาน “ขึ้นโขน ชิงธง” หนึ่งเดียวในสยาม ร่วมสืบสานมรดกประเพณี 170 ปี ที่หลังสวน ระหว่างวันที่ 18-24 ต.ค.นี้ พบกันที่ท่าน้ำวัดด่าน อ.หลังสวน จ.ชุมพร

 
“หลังสวน เมืองผลไม้ พายเรือแข่ง แหล่งทุเรียน สวนสมเด็จ” คำขวัญอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร “หลังสวน” เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่ง ประวัติตั้งเมือง สมัยเริ่มแรกไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด สันนิษฐานว่า บริเวณที่ตั้งเมืองหลังสวนเดิมนั้น มีที่ดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชผล จึงมีประชาชนมาอาศัยอยู่รวมกันจนกลายเป็นชุมชน และขยายเป็นเมือง หลังสวนมีแม่น้ำไหลผ่านเปรียบเหมือนสายโลหิตหล่อเลี้ยงเมือง และใช้เป็นเส้นทางสัญจรในอดีต โดยมีเรือ ที่เป็นพาหนะที่เกิดจากฝีมือการประดิษฐ์ของมนุษย์ ซึ่งนับว่า เรือ มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ การคมนาคมขนส่ง ขนบธรรมเนียมประเพณี และความสนุกสนานแก่คนไทยเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของคำหนึ่งในคำขวัญของอำเภอหลังสวน คือ “พายเรือแข่ง” แต่ไม่ใช้แข่งเรือพายธรรมดา ที่หลังสวน มีประเพณี “ขึ้นโขนชิงธง” หนึ่งเดียวในโลก ที่สืบทอดกันมา 170 ปีแล้ว โดยมีโล่ และถ้วยพระราชทานเป็นรางวัล และเป็นเกียรติแก่ผู้มีชัย

 
ย้อนกลับไปยังจุดกำเนิดของต้นเรื่อง ราวพุทธศักราช 2387 รัชสมัยล้นเกล้า ร.3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงเวลานั้นปรากฏหลักฐานแล้วว่า เมืองหลังสวนมีวัดเกิดขึ้นมากมายหลายวัด และวัดเก่าแก่ต่างๆ ก็ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหลังสวน เมื่อถึงช่วงออกพรรษาในแต่ละปี ชาวบ้านเสร็จกิจจากการทำสวนไร่นา พืชผลถูกเก็บเกี่ยว และขายออกไป เป็นฤดูน้ำหลาก แม่น้ำหลังสวนมีน้ำเต็มตลิ่ง เป็นช่วงเทศกาลทอดกฐินจึงมีเรือมากมายจากทุกสารทิศ ทั้งลำใหญ่ และเล็ก สัญจรไปมาขวักไขว่ ส่วนใหญ่เป็นเรือมาด ต่างตกแต่งธงทิวประดับประดาสวยงาม มีเรือเล็กของชาวบ้านติดตามขบวนกฐินไปยังวัดต่างๆ มีเสียงพิณพาทย์ลาดตะโพนบรรเลงในเรือดังก้องไปทั่วคุ้งน้ำ เป็นบรรยากาศแห่งการทำบุญ และรื่นเริง เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว ก็มีการเล่นเรือเพลง และจบลงที่การประลองพละกำลังของฝีพายหนุ่ม ด้วยความสนุกสนาน จนเริ่มก่อตัวขึ้นเป็นประเพณีสืบต่อกันมา

 
การค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับการแข่งเรือยาวลุ่มน้ำหลังสวนที่สามารถอ้างอิงได้นั้น มีหลักฐานปรากฏชัดเจนเมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสทางชลมารค ถึงเมืองหลังสวน ซึ่งในขณะนั้นเป็นหัวเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพ มีบันทึกว่า เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ร.ศ.108 หรือพุทธศักราช 2432 พระยาจรูญราชโภคา (คอซิมเต็ก ณ ระนอง) เจ้าเมืองหลังสวนในขณะนั้น ได้จัดขบวนเรือรับเสด็จจากปากอ่าวไทยเพื่อนำเรือกลไฟพระที่นั่งนาม ทอนิครอฟต์ เข้าไปตามลำน้ำหลังสวน และพระองค์เสด็จขึ้นประทับแรมที่ตำบลขันเงิน หนึ่งในขบวนเรือที่รับเสด็จในครานั้นมี เรือ มะเขือยำ สังกัดวัดดอนชัย ซึ่งเป็นเรือยาวที่ใช้แข่งขัน ครองความเป็นเลิศอยู่ในสมัยนั้นร่วมอยู่ด้วย ปัจจุบัน เรือมะเขือยำยังถูกเก็บรักษาอยู่ในสภาพดี ไม่ได้ใช้ในการแข่งขัน แต่ใช้เป็นเรือเกียรติยศนำขบวนเรือในพิธีเปิดสนามทุกปี

 
ในปี พ.ศ.2482 ได้มีการบันทึกว่า มีการแข่งขันเรือยาวขึ้นโขนชิงธง ชิงขันน้ำพานรองของพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยนั้น ต่อมา การแข่งขันเรือได้รับความนิยมกว้างขวางขึ้น มีเรือจากต่างถิ่นเข้ามาร่วมแข่งขัน จึงมีการกำหนดจำนวนฝีพาย และแยกประเภทเรือเป็น เรือเพรียว มีฝีพาย 10-20 คน และเรือยาว มีฝีพาย 20 คนขึ้นไป ส่วนใหญ่วัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหลังสวนจะมีการขุดเรือแข่ง ซึ่งประกอบด้วย 9 วัด คือ วัดในเขา วัดนาทิการาม วัดดอนชัย วัดต้นกุล วัดแหลมทราย วัดบางลำพู วัดโตนด วัดด่านประชากร และวัดขันเงิน การแข่งขันดั้งเดิมจึงเป็นการแข่งขันระหว่าง 9 วัดนี้เท่านั้น ซึ่งก่อนการแข่งขันจะมีการซุ่มซ้อมล่วงหน้าเป็นเวลาร่วม 2-3 เดือน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะกันมาตลอด

 
สำหรับความเป็นมาของโล่ และถ้วยพระราชทาน คือ เมื่อปี พ.ศ.2506 นายถ้วน พรหมโยธา ข้าราชการกรมโยธาธิการ ซึ่งเป็นชาวจังหวัดชุมพร ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน และโล่รางวัลชนะเลิศการแข่งขัน และโล่รางวัลชนะเลิศประกวดเรือประเภทสวยงาม จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขณะนั้น พล.อ.ครวญ สุทธานินทร์ เป็นตัวแทนเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และได้อัญเชิญโล่พระราชทานมาอำเภอหลังสวนทันการแข่งขันเรือยาวในปี พ.ศ.2507 หลังจากนั้นต่อมา ยังมีอีกหลายรางวัลซึ่งล้วนเป็นรางวัลพระราชทานทั้งสิ้น จึงเป็นความภาคภูมิใจของชาวหลังสวน นับเป็นการแข่งขันเรือยาวแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีโล่ และถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์


 
ลักษณะของเรือยาวของ อ.หลังสวน

เรือยาวเป็นเรือที่ขุดมาจากต้นไม้ต้นเดียวตลอดทั้งลำ โดยเฉพาะอำเภอหลังสวน จะนิยมขุดเรือยาวในลักษณะหัวกว้างท้ายเรียว เป็นรูปคล้ายปลาช่อน เพราะเชื่อว่าหัวเรือกว้างจะเบิกน้ำได้ดี และทำให้เรือวิ่งได้เร็ว ส่วนท้องเรือจะขุดให้มีลักษณะท้องเรือแบน หรือท้องรูปกระทะ ส่วนหัวเรือเรียกว่า โขนเรือ และท้ายเรือเรียกว่า หางเรือ ช่างขุดเรือมักจะทำโขนเรือแบบถอดได้ และส่วนใหญ่จะทำโขนเรืองอนไม่มาก เพราะการแข่งเรือยาวในอำเภอหลังสวนนั้น เป็นลักษณะการขึ้นโขนชิงธง ผู้แข่งขันจะต้องไต่โขนเรือขึ้นไปชิงธงเอามา ถือว่าใครชิงธงมาได้ก่อนเป็นผู้ชนะ ดังนั้น โขนเรือจึงงอนไม่มาก หรือลาดชันเกินไป จะทำให้ไต่ไปชิงธงได้ลำบาก ส่วนหางเรือนั้นจะงอนเหมือนหางแมงป่อง เพื่อสำหรับเป็นที่ยันเท้าของคนคัดท้ายเรือขณะที่พายเรือ


 
กฎ กติกา การแข่งขันเรือยาวที่หลังสวนมีอยู่ว่า เขาจะตัดสินกันที่หากใครชิงธงไปครองได้จะถือว่าชนะ ความสนุกสุดมันอยู่ที่ช่วงที่เรือแล่นเบียดมาพร้อมกัน นายหัวเรือบางคนแม้จะถึงธงก่อนแต่อาจจะแพ้ได้ เพราะนายหัวเรืออีกลำที่มาถึงทีหลังแม้เพียงแวบเดียว หากเขามีเทคนิคการขึ้นโขน คว้าธง และการกระชากธงที่ดีกว่า ก็จะยึดธงไปครอบครองได้ ถือว่าเป็นการปล้นชัยชนะเพียงเสี้ยววินาทีเลยทีเดียว นายหัวเรือบางคนคว้าธงได้แล้ว แต่พลาดตกน้ำ จากชนะก็กลายเป็นแพ้ไปได้เช่นเดียวกัน ส่วนคู่ไหนที่นายหัวเรือคว้าธงไปครองได้ทั้งคู่ก็ถือว่าเสมอกัน

 
“ความยากลำบากของเรือแต่ละลำ นอกจากการฝึกซ้อมเป็นแรมเดือนแล้ว การที่เรือแต่ละลำจะคว้าแชมป์มาครองนั้น จะต้องอาศัยพละกำลัง ความเร็ว และความสามารถของทุกคนบนเรือ ฝีพายจะต้องพายเร็ว และพร้อมเพรียงกัน กำลังไม่มีตก นายท้ายเรือจะต้องถือท้ายเรือให้ตรงสะดวกต่อการขึ้นโขนของนายหัวเรือ ซึ่งจะต้องรู้จังหวะการขึ้นโขน การเกี่ยวตัวไว้กับเรือ การโฉบคว้าธง และการกระชากธง”


 
ฤกษ์งามยามดีปีนี้ ได้มีการกำหนดจัดงาน “ขึ้นโขนชิงธง” มรดกวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำหลังสวน ครบ 170 ปี หนึ่งเดียวในสยาม เริ่มงานวันที่ 18-24 ตุลาคม 2556 มีกิจกรรมมากมาย บนถนนขันเงิน ตั้งแต่สามแยก ธ.ทหารไทย-ทางลอดรถไฟ ส่วนกิจกรรมการแข่งเรือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 20-24 ตุลาคม 2556 ณ ท่าน้ำวัดด่าน อ.หลังสวน จ.ชุมพร







 
ส่วนใครที่ไปชมการแข่งเรือ “ขึ้นโขนชิงธง” แล้วจะหาโอกาสไปเที่ยวต่อ ก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายให้ได้เพลิดเพลินกัน พร้อมทั้งชิมผลไม้ที่หลากหลายของเมืองหลังสวน ขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวพอสังเขป ดังนี้

เกาะพิทักษ์ ตั้งอยู่ที่ ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน เป็นเกาะขนาดเล็ก ที่มีโขดหินสวยงาม และมีหมู่บ้านชาวประมงกระจายอยู่รอบเกาะ มีหาดทรายขาดเล็กๆ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยเรือประมงจากปากน้ำตะโก

สำนักสงฆ์เทพนิมิตร (วัดคอเขา) อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอหลังสวนประมาณ 15 กม. ภายในมีพระพุทธรูปปางประทานพร และเจ้าแม่กวนอิม บริเวณโดยรอบเป็นเนินเขาสามารถมองเห็นชายหาดบริเวณใกล้เคียงได้ นอกจากนี้ ยังมีสำนักปฏิบัติธรรมสำหรับผู้เลื่อมใสอีกด้วย
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ชุมพร ตั้งอยู่ที่ ม.7 จ.ท่ามะพลา ห่างจากตัวเมืองชุมพร ประมาณ 65 กม. เลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 3 กม. ตรงข้ามกับทางเข้า อ.หลังสวน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยว มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 75 ไร่ เป็นสวนภูเขาซึ่งลักษณะส่วนใหญ่เป็นธรรมชาติ บนเขามีศาลาพักเป็นระยะ และมีรอยพระพุทธบาทอยู่บนเขาด้วย

ถ้าเขาเงิน ตั้งอยู่บริเวณเดียวกันกับสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯชุมพร ภายในถ้ำเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ บริเวณหน้าถ้ำเขาเงิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองหลังสวน เมื่อ พ.ศ.2472 และให้เปลี่ยนนามถ้ำใหม่เรียกว่า “วัดถ้ำเขาเงิน” และโปรดเกล้าฯ ให้สลักพระปรมาภิไธยย่อ “จปร” ไว้ด้วย

ถ้ำเขาเกรียบ ห่างจากตัวเมืองชุมพรตามทางหลวงหมายเลข 4 (ชุมพร-หลังสวน) ประมาณ 85 กม. แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 2 กม. มีสำนักสงฆ์ถ้าเขาเกรียบอยู่บริเวณเชิงเขา ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ กล่าวกันว่า เป็นพระพุทธรูปที่ผุดขึ้นมา นอกจากนี้ ภายในถ้ำยังมีหินงอกหินย้อย สวยงามมาก
 
ขอบคุณภาพประกอบสวยๆ จาก KOMAZOOM
 
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น