นครศรีธรรมราช - รองผู้ว่าฯ เมืองคอนนั่งหัวโต๊ะประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกร เผยเปิดให้สื่อเข้าฟังได้ไม่นานก็สั่งถกลับ ระบุเตรียมแจกเงินช่วยปัจจัยผลิตล็อตแรก พุ่งเป้าชาวสวนในพื้นที่ก่อม็อบ 24 ก.ย.นี้ พร้อมต่อเคอร์ฟิวอีก 12 ชม.
วันนี้ (22 ก.ย.) ว่าที่ ร.ต.ฐิตวัฒน์ เชาวลิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในที่ประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกร โดยมีเจ้าหน้าที่จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยเฉพาะเกษตร จ.นครศรีธรรมราช ที่ต้องเร่งดำเนินการเรื่องการจ่ายเงินชดเชยปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท ได้เข้าชี้แจงความคืบหน้าในการดำเนินการ และมี พล.ต.ต.กิตติสัณต์ เดชสุนทรวัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 เข้าร่วมประชุมถึงข้อสรุปต่างๆ ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงแรกการประชุมได้ให้ผู้สื่อข่าวเข้าร่วมฟังด้วย โดยนายศักดิ์ชัย ชัยเชื้อ นายอำเภอชะอวด ระบุว่า ขณะนี้ได้มีเจ้าหน้าที่คอยติดตามสถานการณ์ในการชุมนุม โดยเมื่อผู้ชุมนุมกระทำการที่ผิดกฎหมายจะมีการแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นระยะ เช่น การตั้งเต็นท์บนถนน การตั้งเวที หรือการตัดต้นไม้กีดขวางถนน แต่ต่อมา ว่าที่ ร.ต.ฐิตวัฒน์ ได้สั่งให้เป็นการประชุมลับ โดยได้เชิญผู้สื่อข่าวออกนอกห้องประชุมทั้งหมด
ภายหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น นายสมนึก เหมมณี เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวยืนยันว่า ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ จะมีการจ่ายเงินชดเชยค่าปัจจัยการผลิตตามนโยบายของรัฐบาล ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางใน จ.นครศรีธรรมราช อย่างแน่นอน โดยจะเริ่มจากเกษตรกรจาก อ.ชะอวด อ.ร่อนพิบูลย์ และ อ.จุฬาภรณ์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ผ่านการตรวจสอบแปลงกรีดยางครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ และได้รับใบรับรองแล้วประมาณ 400 คน เพื่อเป็นการนำร่องเป็นที่แรก ซึ่งจะใช้ระบบเอทีเอ็มของ ธ.ก.ส.เข้าสนับสนุน
ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนยางนครศรีธรรมราช ขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ 78,000 ราย จากทั้งหมดประมาณ 111,761 ราย เฉพาะ อ.ชะอวด ขึ้นทะเบียนแล้ว 3,900 ราย จากเป้าหมาย 4,967 ราย คิดเป็นร้อยละ 80 อ.จุฬาภรณ์ ขึ้นทะเบียนแล้ว 3,270 ราย จากเป้าหมาย 4,501 ราย คิดเป็นร้อยละ 78 และ อ.ร่อนพิบูลย์ ขึ้นทะเบียนแล้ว 4,062 ราย จากเป้าหมาย 5,100 ราย คิดเป็นร้อยละ 80
ด้านการการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 นั้น ที่ประชุมมีมติให้คงมีการประกาศใช้ต่อไปอีก 1 วันคือ เรื่องห้ามมิให้บุคคลใดๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ได้อาศัยอยู่ในชุมชนเข้าไปอยู่อาศัย หรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่การชุมนุมบริเวณสี่แยกควนหนองหงษ์ ต.ควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด ในระยะทางบนถนน 1 กิโลเมตร จากจุดชุมนุมสี่แยกควนหนองหงษ์ ของทางหลวงหมายเลข 41 ตอน อ.ร่อนพิบูลย์-ไม้เสียบ ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 332+700 ถึง 333+700 และทางหลวงหมายเลข 4151 ตอนบ่อล้อ-ลำทับ ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 27+600 ถึง 28+600 ในช่วงเวลา 17.00 น. ของวันที่ 22 ก.ย. ถึงเวลา 05.00 น. ของวันที่ 23 ก.ย.2556
ขณะที่การชุมนุมบริเวณแยกควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น แต่ขณะเดียวกัน มีใบปลิวที่อ้างว่าเป็นชาวบ้านควนหนองหงษ์ ได้ออกแจกจ่ายโดยมีเนื้อหาที่สำคัญคือ เรียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมร่วมชุมนุมอย่างสงบ และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา เนื่องจากการชุมนุมเริ่มส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนในภาพรวม ส่วนพื้นที่การชุมนุมนั้นได้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง มาเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย มีการตั้งเวทีปราศรัย
ส่วนความเคลื่อนไหวภายหลังกลุ่มผุ้ชุมนุมได้ยื่นหนังสือต่อกองทัพภาคที่ 4 วานนี้ (21 ก.ย.) กองการสารบัญกองทัพภาคที่ 4 ได้จัดทำหนังสือเพื่อเสนอผู้บังคับบัญชาไปตามลำดับแล้ว โดยจะมีการแจ้งขั้นตอนให้ทางผู้ยื่นหนังสือทราบเป็นระยะ