xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางนราฯ วอนรัฐส่งผู้เข้าใจภาษาท้องถิ่นดำเนินการขึ้นทะเบียนรับปัจจัยการผลิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
นราธิวาส - การขึ้นทะเบียนรับเงินชดเชยสวนยางใน จ.นราธิวาส มีอุปสรรคด้านภาษา ชาวบ้าน 90% ใช้ภาษามลายูท้องถิ่น แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสื่อสารได้ วอนรัฐส่งผู้ที่สามารถสื่อสารกับชาวบ้านรู้เรื่องลงพื้นที่ด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกก่อนจะพ้นกำหนด ขณะที่เกษตรอำเภอสุไหงปาดีเผยเตรียมจัดหน่วยเคลื่อนที่ออกบริการ เนื่องจากยังมีผู้ไม่ทราบข่าวอีกมาก

วันนี้ (13 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นราธิวาส ว่า สำหรับความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเดินทางมาขึ้นทะเบียนของเกษตรกรเจ้าของสวนยางพารา เพื่อรับเงินชดเชยจากภาครัฐ จำนวน 2,520 บาทต่อไร่ ในพื้นที่ จ.นราธิวาส พบว่า ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 13 อำเภอ เริ่มมีเจ้าของสวนยางพารานำหลักฐานมาขึ้นทะเบียนเพื่อรับเงินชดเชยกันอย่างต่อเนื่อง โดยผู้สื่อข่าวได้เข้าไปสังเกตการณ์ที่สำนักงานเกษตร อ.สุไหงปาดี พบว่า มีเจ้าของสวนยางพาราเดินทางมาขึ้นทะเบีย นเพื่อรับเงินชดเชยเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ซึ่งมีชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นำหลักฐานมาแสดงไม่ครบ เจ้าหน้าที่ต้องอธิบาย และใช้ความพยายามให้การสื่อสารด้วยภาษายาวีท้องถิ่น เพื่อให้เข้าใจ และไม่ต้องเสียเวลาหลายรอบในการเดินทางนำหลักฐานมาแสดงให้ครบตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้

 
นายจำนงค์ ตันสุรีย์ เกษตรอำเภอสุไหงปาดี กล่าวว่า ในส่วนของ อ.สุไหงปาดี มีเจ้าของสวนยางพารามาขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้นประมาณกว่า 1,800 ราย และยังมีเจ้าของสวนยางพาราอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ทราบข่าว ทั้งนี้ ตนและบุคลากรเตรียมลงพื้นที่ไปชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับเจ้าของสวนยางพาราถึงสิทธิประโยชน์ของการขึ้นทะเบียน เพื่อให้เกษตรกรรับทราบ และมาดำเนินการขึ้นทะเบียนให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 30 ก.ย.นี้ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุด และคาดว่าเจ้าของสวนยางพาราจะได้รับเงินชดเชยส่วนนี้ได้อย่างทั่วถึง ตนก็จะมีการจัดหน่วยออกให้บริการขึ้นทะเบียนฯ แบบสัญจรในพื้นที่หมู่บ้าน และตำบลต่างๆ

ขณะที่ชาวสวนยางที่รอขึ้นทะเบียนรายหนึ่ง กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยมีความพร้อม และที่สำคัญผู้ประกอบอาชีพสวนยาง หรือกรีดยางพาราส่วนใหญ่เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ใช้ภาษามลายูท้องถิ่น แต่เมื่อมาติดต่อเจ้าหน้าที่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่ที่สามารถพูด หรือเข้าใจภาษาถิ่น ทั้งที่คนส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่นในการสื่อสาร จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ปัญหาด้วยการหาบุคลากรที่สื่อสารกันเข้าใจ  เมื่อชาวบ้านที่เดินทางมาจะได้ไม่เสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาหลายรอบ ที่สำคัญภาษามลายู หรือภาษายาวี เป็นภาษาหนึ่งที่จะต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่การรองรับด้านการสื่อสารภาษาของเจ้าหน้าที่นราธิวาสไม่มีเลย
 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น