xs
xsm
sm
md
lg

ชนวนปัญหาปรับภูมิทัศน์สวนโมกข์ ขัดแย้งภายในและผลประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี - ปรับปรุงภูมิทัศน์สวนโมกข์ ถูกต่อต้านขัดต่อแนวคิดพุทธทาส หลายฝ่ายระบุเบื้องหลังความขัดแย้งมาจากผลประโยชน์เงิน 50 ล้านบาท และความขัดแย้งภายในสวนโมกข์เอง ขณะที่วัดยืนยันทำอย่างเหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวก ไม่มีความขัดแย้งภายในวัด

จากกรณีการปรับปรุง และบูรณะภูมิทัศน์รอบพระอุโบสถสวนโมกขพาราม บนยอดเขาพุทธทอง หรือพระอุโบสถของวัดธารน้ำไหล อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จนเป็นเหตุให้มีกลุ่มต่างๆ ออกมาวิจารณ์ถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสม และมีนำเสนอออกผ่านทางโซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ก) พร้อมทั้งมีการออกแถลงการณ์คัดค้านจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย และได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้

เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น นายเมตตา พานิช ประธานกรรมการธรรมทานมูลนิธิไชยา ชี้แจงกรณีปรับภูมิทัศน์บนเขาพุทธทอง สวนโมกข์ ว่า หลังจากได้มีโอกาสบวชที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี 1 พรรษา เมื่อปี 2520 ความคิดความเห็นเปลี่ยนไปมาก ได้เรียนรู้ว่า พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งวิเศษ มหัศจรรย์สูงสุด หากเพียรปฏิบัติจริงแล้วชีวิตจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์เราควรจะได้รับคือ สามารถไปได้ถึงที่สุดแห่งทุกข์

เหตุการณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2556 บนเขาพุทธทอง สวนโมกข์ เป็นการเรียนรู้เกมการเมืองครั้งแรกในชีวิต พบว่า มีกระบวนการจัดตั้งอย่างเป็นระบบเพื่อหาคนมาสนับสนุนโครงการนี้ ให้สามารถดำเนินต่อไปได้โดยสะดวก ไม่มีอุปสรรค จึงมีการหาวิธีทุกๆ ทางที่จะสกัดกั้นผู้คนที่ได้รับการชักชวนให้มาดูว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นบนยอดเขาพุทธทอง พยายามทำให้เห็นว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ควรให้ทำต่อไปจนสำเร็จ ทุกอย่างจะดูเรียบร้อย สวยงาม กลมกลืนไปกับธรรมชาติ

เจ้าของโครงการมีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก แน่ใจว่าโครงการนี้เป็นการสานต่อปณิธานของท่านพุทธทาส อีกทั้งไวยาวัจกรที่ร่วมงานด้วยทั้ง 2 ท่าน ก็มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า สวนโมกข์มาถึงยุคที่ต้องพัฒนากันเสียที หยุดนิ่งมากว่า 20 ปีแล้ว มีการปรึกษากันเรื่องนี้ในกลุ่มของพระ และฆราวาสถึงการพัฒนาหลายๆ ด้าน เช่น การเปิดประตูวัดให้รถสามารถขับเข้ามาได้โดยสะดวก ปรับปรุงถนนทุกสาย โดยลาดยาง หรือเทคอนกรีต ตัดถนนเพิ่มเพื่อให้สะดวกในการขับรถเที่ยวดู และชมสถานที่สำคัญต่างๆ ฯลฯ

ในช่วงเวลาก่อนที่จะถึงวันที่ 25 สิงหาคม ได้มีการชักนำผู้นำท้องถิ่นให้มาดู และพยายามอธิบายโน้มน้าวให้คล้อยตาม และเห็นด้วยกับโครงการนี้อย่างเป็นระบบ ผมจึงถูกต่อต้านจากคนรอบข้างเมื่อก้าวเท้าขึ้นไปบนยอดเขาพุทธทอง ข้อกล่าวหาในทางเสียๆ หายๆ ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาโจมตีจนแทบตั้งตัวไม่ติด ขณะนั้นคิดอยู่ในใจแต่เพียงว่า ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งได้อีกแล้ว นอกจากการพึ่งพาอาศัยบารมีของพระธรรมอย่างเดียว ผลของการเจรจาเมื่อวันที่ 25 ไม่อาจตกลงกันได้ มีผู้เสนอว่าควรหยุดรอไว้ก่อน แต่ฝ่ายทำยืนยันเดินหน้าต่อไป

หลังจากเหตุการณ์วันที่ 25 เป็นต้นมา มีสื่อมวลชนจำนวนมากให้ความสนใจมาทำข่าวนี้ มีการเตรียมการไว้อย่างเป็นระบบเช่นเดียวกัน การแถลงข่าว หรือออกข่าวจึงเป็นไปในทางเอื้อประโยชน์ต่อผู้ทำโครงการแทบทั้งสิ้น

เรื่องนี้ทำให้เกิดความไม่พอใจ และต่อต้านเพิ่มมากขึ้นอีก ชาวบ้านที่ใกล้ชิดเหตุการณ์รู้ดีว่าอะไรคือความจริง การรวมตัวประท้วงรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2556 จึงเกิดขึ้น มีชาวบ้านมาร่วมกันประมาณ 30 คน ตัวแทนชาวบ้านขอใช้อาคารของคณะธรรมทาน หน้าสวนโมกข์ เป็นที่พบปะหารือกัน ผลการประชุมมีมติให้ตั้งตัวแทนไปพบเจ้าอาวาส เพื่อขอให้หยุดรอไว้ก่อน แต่ท่านเจ้าอาวาสปฏิเสธ

การนัดรวมตัวกันของชาวบ้านจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 3 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ครั้งนี้มีตัวแทนของหอจดหมายเหตุพุทธทาส ฯลฯ มาร่วมชี้แจงด้วย ผลการประชุมไม่สามารถหาข้อตกลงได้ เพียงแต่ให้ตั้งตัวแทนไปพบเจ้าอาวาสอีกรอบหนึ่ง ความไม่พอใจของชาวบ้านเพิ่มยิ่งขึ้นกว่าคราวที่แล้ว

ตอนเช้าวันที่ 3 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ผมได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากตัวแทนชาวบ้านว่า เขาได้พยายามเข้าไปหาผมที่สวนโมกข์นานาชาติแต่ไม่พบ จึงได้พยายามติดต่อทางโทรศัพท์ ได้พูดคุยกัน จึงทราบว่า ทางกลุ่มชาวบ้านได้ร่วมพูดคุย และตกลงกันแล้วว่า วันนี้จะรวมกลุ่มกันขับไล่เจ้าอาวาส

เรื่องนี้ผมรู้สึกหวั่นวิตกมาก่อนหน้านี้แล้ว เรื่องที่กลุ่มชาวบ้านไม่พอใจ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องบนเขาพุทธทองเพียงเรื่องเดียว ความไม่พอใจเริ่มก่อตัวขึ้นมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่เปลี่ยนเจ้าอาวาสรูปใหม่ เรื่องวุ่นวายภายในวัดถูกบอกเล่ากันต่อๆ ไป เรื่องสุดท้ายที่ถือว่าร้ายแรงที่สุด คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ได้ทราบว่ามีการนัดประชุมพระในวัดเป็นการด่วน โดยมีพระอาจารย์ทองสุข ธัมมวโร ที่ปรึกษาเจ้าอาวาส เป็นผู้ดำเนินการประชุม เป็นการตั้งคณะสงฆ์ไต่สวนเอาความผิดต่อ ท่านสิงห์ทอง เขมิโย พระอุปัฏฐากท่านพุทธทาส มีการคาดโทษไว้นับตั้งแต่เบาสุด คือ ตักเตือน ไปจนถึงขั้นสุดท้าย คือ ขับออกจากวัด ผมได้ทราบว่า ท่านเจ้าอาวาสก็ไม่เห็นด้วยกับการเสนอโทษถึงขั้นขับออกจากวัด ท่านทักท้วงว่าเป็นช่วงกำลังอยู่ในพรรษา ขอให้ลงโทษเพียงขั้นว่ากล่าวตักเตือน เพราะเท่าที่ฟังข้อกล่าวหาต่างๆ ไม่มีน้ำหนัก หรือเหตุผลเพียงพอ

ชาวบ้านหน้าวัดทราบเรื่องนี้เมื่อตอนเย็นใกล้ค่ำแล้ว มีการรวมตัวกันนับสิบคนเข้าไปในวัดยื่นข้อเสนอว่า หากท่านสิงห์ทอง ถูกขับไล่ออกจากวัดเมื่อใดจะรวมตัวกันขับไล่เจ้าอาวาสด้วย

ท่านสิงห์ทอง เป็นพระที่ชาวบ้านให้ความเคารพรักมาก คอยรับใช้ปรนนิบัติท่านพุทธทาส เป็นเวลายาวนานจวบจนท่านมรณภาพ ขณะนี้เป็นศิษย์ก้นกุฏิที่ยังคงเหลือในสวนโมกข์เพียงรูปเดียว เพราะท่านจ้อย ได้ไปรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตะกรบตั้งแต่ต้นปีมาแล้ว

ผมได้พยายามเจรจาขอร้องตัวแทนชาวบ้าน โดยให้เหตุผลว่า ไม่ควรทำเพราะเป็นเรื่องใหญ่ มีผลกระทบต่อหลายๆ ฝ่าย มีแต่ผลเสียเกิดขึ้นแก่ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีส่วนดีใดๆ เลย แล้วในที่สุดเรื่องต่างๆ ก็จะถูกชักโยงมาใส่ความผิดให้แก่ผม จะกลายเป็นข้อหาที่หนักยิ่งกว่าการเป็นผู้นำการประท้วง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมานี้ไปเสียอีก

ในที่สุดสามารถตกลงกันได้ ผมขอโอกาสใช้วิธีการสันติวิธีตามที่ได้ประกาศออกไปว่า ขอให้มาร่วมกันแสดงความเห็นว่า ควรหยุดรอไว้ก่อนเพื่อฟังข้อคิดเห็นจากทุกฝ่าย หรือควรให้ดำเนินการต่อไปจนเสร็จ

หลังจากผ่านวันเสาร์ที่ 7 กันยายนนี้ หากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ผมจะไม่ขอร้องอะไรอีก ปล่อยให้เป็นเรื่องของชาวบ้านที่จะคิดทำกันเองโดยอิสระ

การทำให้โลกออกมาเสียจากอำนาจของวัตถุนิยม ตามปณิธานข้อที่ 3 ของท่านพุทธทาส เป็นสิ่งที่ยากจะทำได้ แต่ก็เป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะนำโลกออกจากวิกฤต และกลับมีสันติภาพที่แท้จริงได้

ผมรู้สึกเสียดายเวลาอันมีค่าของพระนวกะหลายๆ รูป แทนที่จะได้มีเวลาศึกษา และปฏิบัติจริง จนได้รับสัมผัสความสงบเย็นของโลกุตรธรรมบ้าง กลับมาหลงติดกับดักของวัตถุนิยม เข้าใจผิดไปว่างานปรับภูมิทัศน์บนเขาพุทธทองเป็นผลงานอันมีค่ายิ่งในช่วงพรรษานี้

ขณะที่ข่าวในโซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ก) ที่ระบุว่า เขาพุทธทอง สถานที่สำคัญ ภายในสวนโมกขพลาราม (วัดธารน้ำไหล) อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เกิดการก่อสร้างขนาดใหญ่ มีรถแบ็กโฮขึ้นไปทำงานบนเขาพุทธทอง จนกลายเป็นที่วิตกกังวลของชาวสุราษฎร์ธานี และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เกรงว่าจะเกิดการก่อสร้างขนาดใหญ่ซึ่งขัดต่อแนวคิดของท่านพุทธทาส

ผู้สื่อข่าวจึงได้ขึ้นไปยังยอดเขาพุทธทอง ซึ่งเป็นอุโบสถกลางแจ้งให้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของวัดสวนโมกขพลาราม ตามแบบพุทธประวัติ พบว่า กำลังมีการก่อสร้างจริงตามกระแสข่าวในโซเชียลมีเดีย แต่เป็นเพียงการปรับภูมิทัศน์เท่านั้น ซึ่งได้รับการยืนยันจากพระผู้ดูแลการก่อสร้าง และผู้ออกแบบ

โดยสภาพบนยอดเขาพุทธทอง มีการปรับพื้นที่โดยรอบ มีกองวัสดุ ทราย หิน เหล็กเส้น และปูน วางเป็นจุดๆ และมีการก่อสร้างลักษณะคล้ายบันไดลงมาจากยอดเขาพุทธทอง ส่วนบริเวณที่เป็นสถานที่ฌาปณกิจสรีระท่านพุทธทาสภิกขุ มีการปรับสภาพโดยรอบเช่นกัน

เดินหน้าปรับปรุงต่อ ยันกลมกลืนธรรมชาติ

ทางด้าน นายอิทธิฤทธิ วิทยา สถาปนิกผู้ออกแบบการปรับปรุงภูมิทัศน์ อุโบสถวัดธารน้ำไหล (สวนโมขก์) เปิดเผยว่า การปรับปรุงภูมิทัศน์ดังกล่าว ทำโดยให้กลมกลืนกับธรรมชาติเดิมมากที่สุด ต้นไม้ขนาดใหญ่ไม่มีการเอาออก ยังคงอยู่ในสภาพเดิม โดยมีการปรับพื้นดินให้เรียบ และวางหินเรียงให้เป็นระเบียบ และสวยงามเพื่อความสะดวกและปลอดภัย ซึ่งแต่เดิมบนยอดเขาพุทธทอง ไม่มีการใช้ประโยชน์ และมีสภาพรกร้าง โดยจะมีเพียงกิจกรรมในวันสำคัญ เช่นการเวียนเทียน เท่านั้น

ส่วนบริเวณด้านหน้าลานบนยอดเขาพุทธทอง ซึ่งเป็นสถานที่ฌาปนกิจสรีระท่านพุทธทาสภิกขุ เดิมเมื่อเกิดฝนตกน้ำจากเขาจะไหลมาเอ่อเซาะบริเวณฐานฌาปนกิจสรีระของท่านพุทธทาส และมีการปรับพื้นที่โดยรอบเพื่อกันไม่ให้น้ำจากยอดเขาไหลลงตรงบริเวณดังกล่าว

หลังมีกระแสข่าวออกไปจนมีการต่อต้านว่าต้นไม้ขนาดใหญ่จะตายจากเหตุการณ์ปรับพื้นที่ ทางวัดก็ได้เชิญเจ้าหน้าที่ป่าไม้ขึ้นมาแนะนำการรักษาต้นไม้โดยมี นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคนในชุมชนขึ้นมาบนเขาพุทธทอง เพื่อดูการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบพระอุโบสถโดยไม่ได้ไปปรับปรุงตัวพระอุโบสถจนทุกฝ่ายต่างเห็นชอบจึงนำเนินงานต่อ ดังนั้น ข่าวที่ออกไประบุว่า มีการก่อสร้างอุโบสถบนเขาพุทธทอง ซึ่งสร้างความแตกตื่นตกใจให้แก่พี่น้องประชาชน แต่ในความเป็นจริงอุโบสถของสวนโมขก์ ก็คือ ต้นไม้ และพื้นดินนั่นเอง ไม่ได้มีการก่อสร้างแบบอุโบสถของวัดอื่นๆ เพียงแต่ปรับปรุงสภาพให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

ส่วนงบประมาณและระยะเวลาที่ใช้ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ในครั้งนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ตายตัว เป็นการปรับไปเรื่อยๆ ใช้เงินของวัดตามความเหมาะสม

ยันไม่มีความยัดแย้งในสวนโมกข์ ปรับปรุงเพื่ออำนวยความสะดวก

ด้านพระอาจารย์ทองสุข ธมมวโร ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พระอธิการสุชาติ ปัญญาทีโป เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล ให้ดูแลการปรับปรุงภูมิทัศน์อุโบสถ์วัดธารน้ำไหล กล่าวว่า การปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นไปเพื่ออำนวยประโยชน์ โดยไม่ได้มีความขัดแยงภายในวัด หรือความขัดแย้งใดๆ ซึ่งบริเวณที่มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ มีคำสั่งของวัดธารน้ำไหล ติดอยู่ ในคำสั่งระบุว่า “คณะสงฆ์วัดธารน้ำไหล มีความประสงค์จะจัดระเบียบการบริหารงานภายในวัดธารน้ำไหลให้เป็นไปตามความเหมาะสม เจ้าอาวาสมีความเห็นชอบด้วย จึงมอบอำนาจให้แก่ พระอาจารย์ทองสุข ธมมวโร ควบคุมดูแลบูรณะภูมิทัศน์โบสถ์ ที่ปรึกษาเจ้าอาวาส ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม2556 เป็นต้นไป พร้อมมีลายมือชื่อของเจ้าอาวาสในตอนท้ายของคำสั่ง

กลุ่มเพื่อนสวนโมกข์ค้านผ่านเฟซบุ๊กขัดแนวคิดพุทธทาส

กลุ่มเพื่อนสวนโมกข์ ได้มีการเขียนจดหมายเปิดผนึกผ่านทางเฟซบุ๊ก ถึง เพื่อนสวนโมกข์ เพื่อแจ้งให้ออกมาร่วมกันคัดค้านทิศทาง และนโยบายการบริหารสวนโมกข์ในปัจจุบัน โดยระบุว่าทิศทางของสวนโมกข์ที่กำลังเดินอยู่ในปัจจุบันกำลังเดินออกไปจากสิ่งที่ท่านพุทธทาสวางไว้ในอดีต

จดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าว ระบุว่า สถานการณ์ภายในวัดสวนโมกข์ทุกวันนี้ไม่สู้ดีนัก สงฆ์แตกออกเป็น 2 กลุ่มจากการตั้งเจ้าอาวาสคนใหม่มาแทนเจ้าอาวาสคนเก่า แม้เจ้าอาวาสคนใหม่ จะเป็นที่ชื่นชอบ และเคารพนับถือของคนจำนวนไม่น้อย แต่หลังจากเข้ามารับตำแหน่งแทน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สวนโมกข์เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยพระท่านหนึ่ง อยู่เบื้องหลังเจ้าอาวาสคนปัจจุบัน

จดหมายเปิดผนึกยังระบุด้วยว่า งานแรกของสวนโมกข์ในยุคเจ้าอาวาสคนใหม่ คือ การเข้ามาควบคุมจัดการเรื่องเงิน โดยต้องการแยกบัญชีวัดออกจากธรรมทานมูลนิธิ มีการตั้งข้อกล่าวหาว่า ผู้รับผิดชอบรายหนึ่งที่ดูแลเงินวัดตั้งแต่สมัยท่านพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ นำเงินวัดไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว การบริหารเงินของธรรมทานมูลนิธิ โดยมีผู้ดูแลหลักอยู่เพียงคนเดียวถูกมองว่าอาจจะมีความไม่โปร่งใส ระบบการเงินของสวนโมกข์ถูกตั้งขึ้นใหม่ โดยสวนโมกข์ขอกลับไปสู่ความเป็น “วัดธารน้ำไหล” ภายใต้มหาเถรสมาคม วัดมีบัญชีแยกจากธรรมทานมูลนิธิ และพระสามารถบริหารเงิน และนำเงินมาใช้ได้อย่างเป็นอิสระโดยไม่ต้องได้รับการอนุมัติจากใคร

ต่อมา พระประจำเคาน์เตอร์รับบริจาคเงินรายหนึ่งถูกบีบให้ออกจากการทำหน้าที่ดังกล่าว โดยมีการส่งหนังสือทางการแจ้งปลดอย่างสายฟ้าแลบ รวมถึงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสด้วย

ต่อมา เป็นคิวของพระอุปัฏฐากผู้อยู่ใกล้ชิดกับท่านพุทธทาสเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เช่นเดียวกัน มีความพยายามจะปลดออกจากตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาส ถึงขนาดจะจับท่านสึก โดยตั้งข้อกล่าวหาซุกซ่อนเงินบริจาคตั้งแต่สมัยพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ จนต้องลี้ภัยออกจากสวนโมกข์เป็นระยะเวลาหนึ่ง

จดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า เมื่อพระรุ่นเก่าๆ ที่เคยมีบทบาทในยุคเจ้าอาวาสคนก่อนถูกขับออกไป สวนโมกข์ก็มีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานตรงเคาน์เตอร์รับเงินบริจาคใหม่ โดยมีการให้พระพรรษาน้อยๆ เข้ามาทำหน้าที่แทน มีการติดกล้องวงจรปิด 2 ตัวตรงจุดรับเงินบริจาค มีการเชื่อมความสัมพันธ์กับโครงสร้างคณะสงฆ์ภายนอกอย่างเจ้าคณะอำเภอ เพื่อให้ “วัดธารน้ำไหล” กลับสู่ระบบสงฆ์ของรัฐ ไม่ใช่ระบบลอย และเป็นสังฆะอิสระอย่างที่เคยเป็นมา

ด้านนายณรงค์ เสมียนเพชร ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอไชยา เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งทางความคิด ที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมหาทางออกเพื่อให้สวนโมกข์เดินต่อไปได้ ซึ่งสวนโมกข์เป็นของทุกคน และก่อนหน้านี้ ท่านอาจารย์พุทธทาส ได้เขียนหนังสือไว้โดยระบุว่า หมวด ก. เกี่ยวกับระเบียบสงฆ์ และเงินของวัด 1.ต้องเป็นเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย 2.กรรมการต้องเป็นกรรมการวัด 3.ต้องทำบัญชี ประจำ หมวด 6 เงินนั้นไม่ใช่ของวัด 1.ของสวนโมกข์ 2.ผู้หา หาช่วยคน กล้าแหวกแนว 3.เรายังอยู่ 4.คนจะยิ่งเข้าใจ รวยกันใหญ่ 5.ควรจะชั่ว 4-5 ปี หมวด ค. ในทางอนาคต 1.ถ้าเปลี่ยนเจ้าอาวาส และเกิดขัดแย้ง 2.ถ้ามีกฎอะไรออกใหม่โดยคนใหม่ 3.ถ้าเราตายลง วัดธารน้ำไหลจะผูกพันกับมูลนิธิแทน สวนโมกข์ อาจจะมีเรื่อง และ 4.สวนโมกข์จะอยู่โดยคณะธรรมทาน

หลังจากมีปัญหาการขัดแย้งด้านความคิดทางฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลงพื้นที่สืบสวนจนทราบว่า การขัดแย้งทั้งหมดเกิดจากการขัดผลประโยชน์ภายในวัด และเงินจำนวน 50 ล้านบาทอยู่ในบัญชีของมูลนิธิฯ

อย่างไรก็ตาม ทางสวนโมกข์ยังคงเดินหน้าปรับปรุงภูมิทัศน์ และบูรณะภูมิทัศน์รอบพระอุโบสถ สวนโมกขพาราม บนยอดเขาพุทธทอง หรือพระอุโบสถของวัดธารน้ำไหลต่อไป พร้อมทำความเข้าใจกับกลุ่มที่คัดค้านต่อไป








 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น