xs
xsm
sm
md
lg

เปิดฉากเจรจาม็อบยางอีกครั้ง! “กิตติรัตน์” ยันต้องเร่งแจกค่าปุ๋ย 1,260 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ตัวแทนรัฐบาลลงพื้นที่นครศรีฯ เปิดฉากเจรจาม็อบยางอีกครั้ง บรรยากาศเป็นไปอย่างตึงเครียด “กิตติรัตน์” ยันต้องเร่งแจกค่าปุ๋ยไร่ละ 1,260 บาท เพราะชาวสวนยางได้ประโยชน์ทั้งประเทศ ขณะที่ตัวแทนม็อบต้านเสียงแข็งเรียกร้องให้ประกันราคา เพราะค่าปุ๋ยเป็นเพียงผลประโยชน์ของเจ้าของสวนยางเท่านั้น

วันนี้ (6 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครศรีธรรมราช ว่า เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่ผ่านมา ที่โรงแรมทวินโลตัส อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ตัวแทนรัฐบาล ได้แก่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี และประธานการประชุมแก้ไขปัญหาราคายางพารา นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง นายวราเทพ รัตนากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย พร้อมคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา ได้เดินทางมาร่วมหารือ และเจรจากับเครือข่ายชาวสวนยางทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งบรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างตึงเครียด

สำหรับข้อเสนอของชาวสวนยางพาราซึ่งเรียกร้องให้มีการประกันราคายางพาราที่ กก.ละ 100 บาทนั้น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กล่าวว่า ตนและคณะมาร่วมหารือกับเกษตรกรในวันนี้ เพื่อหาทางออกให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการพูดคุยกันหลายรอบแล้ว และล่าสุด กลุ่มเกษตรกรได้เสนอ 2 ประเด็นแก่ กนย. โดยระบุว่าเป็นห่วงว่าค่าสนับสนุนปัจจัยการผลิต หรือค่าปุ๋ยไร่ละ 1,260 บาท จะไม่ถึงมือเกษตรกรผู้รับจ้างกรีดยางพารานั้น ปรากฏว่า กนย.มีมติออกมาแล้วว่าให้อนุมัติเงินดังกล่าว และเกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ของประเทศก็เห็นด้วยว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ ถ้าทางรัฐบาลไม่รีบเร่งดำเนินการก็เกรงว่ากลุ่มเกษตรกรที่เห็นด้วยจะกล่าวหาว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ปัญหา

ขณะเดียวกัน นายอำนวย ยุติธรรม ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางซึ่งชุมนุมอยู่ที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช และเข้าร่วมเจรจาในครั้งนี้กล่าวว่า กลุ่มเกษตรชาวสวนยางพารายังยืนยันเจตนารมณ์เดิม คือ เรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรให้มากที่สุด โดยตอนนี้ขอให้รัฐบาลเลิกใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม ซึ่งที่ผ่านมา เกิดขึ้นแล้วที่แยกควนหนองหงษ์ ต.ควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช และที่ จ.ประจวบฯ เมื่อเร็วๆ นี้

“สาเหตุที่เกษตรกรชาวสวนยางพาราทางภาคใต้ไม่ยอมรับเงื่อนไขการสนับสนุนค่าปัจจัยการผลิตนั้น เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มีพื้นที่สวนยางน้อย และมีลูกจ้างที่รับจ้างกรีดยางพาราเป็นอัตราส่วน 1:3 คือ เจ้าของสวน 1 คน จะมีลูกจ้างประมาณ 3 คน มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวผลประโยชน์จึงตกอยู่ที่เจ้าของสวนยาง” นายอำนวยกล่าว

นอกจากนี้ นายอำนวยยังเปิดเผยด้วยว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าหลังจากที่ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรเดินทางไปร่วมเจรจากับตัวแทนรัฐบาลที่ กทม. เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่า จากเดิมที่อนุมัติเงินค่าปัจจัยการผลิตให้แก่ชาวสวนยางคนละไม่เกิน 10 ไร่นั้น ต่อมาได้มีการประชุม กนย. เพิ่มเป็นคนละไม่เกิน 25 ไร่นั้น รัฐบาลมุ่งให้ผลประโยชน์แก่ชาวสวนยางในภาคอีสาน ซึ่งเกษตรกรค่อนข้างมีพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นบริเวณกว้าง ส่วนราคายางพาราที่เคยเรียกร้อง กก.ละ 120 นั้น เห็นว่ารัฐบาลมีงบประมาณน้อยจึงได้ลดลงมาเหลือ กก.ละ 100 บาทแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า การเจรจาดังกล่าวนี้ไม่มีตัวแทนเกษตรกรกลุ่มที่อยู่ชุมนุมอยู่ตรงแยกควนหนองหงษ์ ต.ควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เข้าร่วมวงพูดคุย ขณะเดียวกัน การชุมนุมที่แยกควนหนองหงษ์ ก็ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น และมีประชาชนเดินทางมาสมทบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

 
 






กำลังโหลดความคิดเห็น