xs
xsm
sm
md
lg

จะคลี่คลายปัญหาการชุมนุมของชาวสวนยางได้อย่างไร / ดร.เลิศชาย ศิริชัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ดร.เลิศชาย  ศิริชัย  คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
 
 
กรณีการชุมนุมของชาวสวนยาง และสวนปาล์มที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ในปัจจุบัน ที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรง และจะกลายเป็นบาดแผลสำคัญของประเทศอีกครั้งหนึ่งนั้น ผมเห็นว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะต้องปรับความคิด และสร้างแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน ดังนี้
 
1.สถานการณ์ที่ชาวสวนยาง และสวนปาล์มชุมนุมปิดถนนนั้น ถือว่าเป็นสิทธิที่ประชาชนผู้เดือดร้อนจากการดำเนินนโยบายของรัฐสามารถกระทำได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญในประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายก็จะรับรองสิทธินี้ไว้ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญของไทย
 
แม้การปิดถนนอาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนกลุ่มอื่น และอาจถูกนำไปอ้างว่ากระทำผิดกฎหมาย แต่ว่าในทางสากลก็ยอมรับปฏิบัติการเช่นนี้ โดยเฉพาะในประเทศที่ประชาชนยังคงมีความเหลื่อมล้ำกันมาก และยังขาดกลไกที่จะสร้าง และรักษาความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้ด้อยอำนาจ เพราะเป็นวิธีการที่จะทำให้รัฐบาลหันมารับฟังเสียงของผู้ด้อยอำนาจ
 
การเรียกร้องให้ชาวสวนยางหยุดปิดถนน และไปชุมนุมในพื้นที่ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใครนั้น จึงเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่มีทางเป็นไปได้ และเท่ากับสังคมไม่สนใจไยดีต่อความทุกข์ยากของคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่เปิดโอกาสให้พวกเขามีช่องทางต่อรองที่มีประสิทธิภาพเลย
 
สิ่งที่ผู้เดือดร้อนจากการปิดถนนควรจะกระทำก็คือ การเรียกร้อง และกดดันรัฐบาลให้มาเจรจากับผู้ชุมนุมประท้วง เพราะหลักการของการยึดพื้นที่สาธารณูปโภคที่กระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ก็เพื่อกดดันให้รัฐบาลรีบมาเจรจา
 
รัฐบาลที่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งกลุ่มที่กำลังชุมนุมอยู่ และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม จึงต้องรีบมาเจรจากับผู้ประท้วงเพื่อหาทางแก้ปัญหา และไม่จำเป็นต้องมีข้ออ้างว่า จะมีผู้เลียนแบบไปทำตาม เพราะการชุมนุมของประชาชนผู้เดือดร้อนไม่ใช่กระทำได้โดยง่าย หากไม่ใช่ทุกข์ร้อนที่หนักหนาแล้ว ชาวบ้านคงไม่ยอมเสียเวลา ยอมเหน็ดเหนื่อยมาประท้วงแบบยืดเยื้อเช่นนี้
 
ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า ชาวสวนยางไม่เคยชุมนุมใหญ่แบบนี้มาก่อน และก่อนจะมีการชุมนุมดังกล่าวพวกเขาก็ใช้วิธีร้องเรียนรัฐบาลให้ช่วยเหลือมาอย่างยาวนานแล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจ
 
2.การที่ชาวสวนยาง และสวนปาล์มเดือดร้อน ก็เพราะเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลที่พยายามกระตุ้นให้ปลูกพืชประเภทนี้ โดยที่รัฐบาลไม่เคยมีแผนการ หรือให้ข้อมูลต่อเกษตรกรเลยว่า ในระยะยาวความต้องการยาง และปาล์มจะเป็นอย่างไร
 
รัฐบาลยังคงกระตุ้น หรือสนับสนุนตลาดให้กระตุ้นเกษตรกรขยายการปลูกพืชประเภทนี้ตลอดเวลา ดังจะเห็นถึงการขยายตัวของการปลูกยางไปสู่ทุกภาค นอกจากนี้ ผลประโยชน์ที่เกิดจากความต้องการยางของตลาดโลกที่ผ่านมา ช่วยให้รัฐบาลได้ประโยชน์ด้านภาษีจากการผลิตและการค้าขายยางในจำนวนที่สูงตลอดมา
 
อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยการกระตุ้นให้ประชาชนนำเงินที่มีอยู่มาใช้ในการบริโภค ซึ่งชาวสวนยาง และสวนปาล์มก็ตกอยู่ภายใต้แนวทางเช่นนี้ คือ นำเงินที่ขายยางและปาล์มมาใช้ในการอุปโภคบริโภคเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ได้ออมเงิน หรือใช้ในการสะสมทุนเพื่อการผลิต ซึ่งเท่ากับว่าชาวสวนยางมีส่วนช่วยรัฐบาลพยุงเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศมาโดยตลอด
 
แต่เมื่อชาวสวนยางและสวนปาล์มประสบวิกฤตด้านราคา รัฐบาลกลับโยนภาระให้ชาวสวนยางและสวนปาล์มรับผิดชอบเอาเอง โดยอ้างถึงกลไกของตลาด
 
ประเด็นก็คือ หากรัฐบาลปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด โดยไม่เข้าไปแทรกแซงเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่กลุ่มคนที่มีอำนาจต่อรองน้อย ก็คงไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาล
 
ดังนั้น รัฐบาลจะต้องมองปัญหาราคายางพาราและปาล์มและการประท้วงของเกษตรกรแบบมีประวัติศาสตร์ และมองเห็นถึงคุณูปการที่คนกลุ่มนี้มีต่อประเทศชาติตลอดมา
 
3.รัฐบาลพึงตระหนักว่า สาระสำคัญของการมีรัฐบาลนั้นคือ “การบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน” การประเมินประสิทธิภาพของรัฐบาลก็พิจารณาจากเรื่องนี้ และต้องพึงตระหนักอย่างจริงจังว่า ประเทศไม่ใช่บริษัทส่วนตัวของใคร
 
หากไม่สามารถบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนได้ ก็ควรจะต้องพ้นจากการเป็นรัฐบาล ซึ่งสำหรับประเทศไทยหลักการนี้ได้ถูกทำลายมาโดยตลอด มีผลทำให้ประเทศเป็นคล้ายสมบัติส่วนตัวของกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า รัฐบาล เพราะคนกลุ่มนี้ไม่เพียงไม่สนใจแก้ปัญหาให้ประชาชนเท่านั้น แต่ยังตั้งธงไว้ตั้งแต่ต้นว่า ถ้าใครไม่ฟังรัฐบาลก็จะปราบปราม
 
พร้อมทั้งพยายามสร้างภาพประชาชนที่ประสบปัญหา และขอให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหา ดังกรณีการชุมนุมประท้วงของชาวสวนยาง และสวนปาล์มว่าเป็นผู้ร้าย และสมควรจะถูกปราบปราม ไม่เพียงเท่านั้นยังพยายามทำให้ประชาชนกลุ่มอื่นๆ เข้าใจผิดเกษตรกรที่ชุมนุมประท้วง และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากัน
 
การกระทำเช่นนี้ไม่เพียงเป็นรัฐบาลที่ไม่ทำหน้าที่ของตนเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นรัฐบาลที่มองไม่เห็นประชาชนของตนด้วย และทำให้ประเทศไทยเป็นบริษัทส่วนตัวที่คนอื่นจะเข้ามายุงเกี่ยวไม่ได้ การคิดและทำเช่นนี้จึงเป็นการนำประเทศไปสู่จุดอับ คือ ไม่มีทางออกให้แก่ประเทศ ในที่สุดก็นำไปสู่การเผชิญหน้ากัน และตามมาด้วยการใช้ความรุนแรง
 
การเมือง การปกครองของไทย จึงไม่มีโอกาสที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเข้มแข็ง ในลักษณะที่คนทุกกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอหน้ากัน
 
4.ข้าราชการประจำเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน ข้าราชการไม่ใช่ข้ารับใช้นักการเมือง แต่มีเกียรติยศ และศักดิ์ศรีของตัวเอง เกียรติยศและศักดิ์ศรีดังกล่าวก็คือ การเป็นมืออาชีพในการบำบัดทุกข์แก่ประชาชน
 
ดังนั้น การข่มขู่และทำร้ายประชาชนแล้วอ้างว่าต้องทำ เพราะเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จึงเป็นเพียงข้ออ้างที่ไม่ได้คำนึงถึงเกียรติยศศักดิ์ศรีของตน แต่เป็นการขายเกียรติยศศักดิ์ศรีของข้าราชการประจำ
 
ที่จริงตามหลักการปกครองนั้น ไม่ใช่ว่าข้าราชการจะต้องฟังผู้บังคับบัญชาทุกอย่าง แต่จะฟังเฉพาะคำสั่งที่ถูกต้องชอบธรรม และมีคุณธรรม ซึ่งมีทั้งหลักกฎหมาย และหลักคุณธรรมปกป้องข้าราชการประจำอยู่แล้ว แต่ข้าราชการเลือกที่จะทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ทั้งที่เป็นนักการเมืองและข้าราชการประจำในระดับสูงขึ้นไป ก็เนื่องจากหวังว่า ผู้บังคับบัญชาจะอำนวยยศให้ตนมีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โตขึ้นนั่นเอง
 
การกระทำเช่นนี้ของข้าราชการประจำ ทำให้ประเทศขาดกลไกในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน และทำให้ประชาชนที่มีข้อขัดแย้งกับอำนาจรัฐถูกทอดทิ้ง และกลายเป็นปัญหาของประเทศที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ
 
5.แนวทางที่ทุกฝ่ายควรจะกระทำก็คือ รัฐบาลต้องรีบส่งผู้รับผิดชอบโดยตรง และมีอำนาจตัดสินใจลงไปเจรจากับชาวสวนยางและสวนปาล์มที่กำลังชุมนุมประท้วงอยู่ ด้วยท่าทีของผู้ปกครองที่ต้องการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน
 
สังคมจะต้องกดดันให้รัฐบาลลงไปทำหน้าที่นี้ และแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลที่ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพอย่างยิ่ง และไม่ควรเป็นรัฐบาลอีกต่อไป
 
ฝ่ายข้าราชการประจำจะต้องดูแลประชาชนที่ชุมนุมประท้วงเป็นอย่างดี สร้างบรรยากาศของการพูดคุยที่ดี รายงานสถานการณ์ต่อผู้บังคับบัญชาอย่างตรงไปตรงมา และเร่งรัดให้ฝ่ายการเมืองลงมาเจรจา ข้าราชการจะต้องยึดหลักการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนในการทำงาน และไม่เป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่จะปราบปรามประชาชนที่คิดเห็นต่างจากรัฐบาล
 
ส่วนฝ่ายประชาชนก็ต้องใช้ความอดทน ชุมนุมอย่างสงบ ไม่ตกหลุมการยั่วยุ เสนอข้อเรียกร้องที่ชัดเจน และพร้อมที่จะเจรจากับตัวแทนรัฐบาลอย่างมีเหตุมีผล
 
หากทุกฝ่ายรู้หน้าที่ของตนเองเช่นนี้ ไม่เพียงจะสามารถแก้ปัญหาการชุมนุมประท้วงของชาวสวนยาง และสวนปาล์มได้เท่านั้น แต่ปัญหาต่างๆ ของประเทศที่เกิดขึ้นก็จะสามารถแก้ไขได้ด้วย.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น