xs
xsm
sm
md
lg

ท่าอากาศยานภูเก็ตเสริมเขี้ยวเล็บให้บุคลากรรับมือเหตุวางระเบิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ท่าอากาศยานภูเก็ต เสริมเขี้ยวเล็บให้บุคลากรเตรียมความพร้อมรับมือเหตุลอบวางระเบิด จัดฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉิน ประจำปี 2556 จำลองสถานการณ์พบวัตถุระเบิด 2 จุด ในบริเวณท่าอากาศยาน เจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุเก็บกู้ตามแผนปฏิบัติการ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (31 ก.ค.) ที่บริเวณลานจอดรถ หน้าอาคารผู้โดยสาร 2 ท่าอากาศยานภูเก็ต นายไมตรี อินทุสูต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบ ตามแผนฉุกเฉิน ท่าอากาศยานภูเก็ต ประจำปี 2556 (PEMEX 2013) โดยมี น.ท.เลิศกฤต ทองศิริไกร รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ ท่าอากาศยานภูเก็ต หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ชุดเก็บกู้ระเบิดตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ชุดเก็บกู้ระเบิดตำรวจภูธรภาค 8 ชุดเก็บกู้ระเบิดท่าอากาศยานภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ซึ่งท่าอากาศยานภูเก็ต จัดให้มีการฝึกซ้อมขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ความไม่สงบให้แก่เจ้าหน้าที่ของท่าอากาศยานภูเก็ต รวมทั้งในส่วนของหน่วยสนับสนุนทั้งภายใน และภายนอกเพื่อให้เกิดความพร้อมในการทำงานกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น


สำหรับการฝึกซ้อมในครั้งนี้ ได้สมมติให้มีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในบริเวณท่าอากาศยานภูเก็ตจำนวน 2 จุด โดยมีการสมมติเจ้าหน้าที่ตระเวนระงับเหตุ ตรวจพื้นที่บริเวณอาคาร 2 พบวัตถุต้องสงสัยวางอยู่หน้าชานชาลาอาคาร 2 เจ้าหน้าที่จึงแจ้งให้หัวหน้าหน่วยทราบ และประสานเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) เข้าทำการพิสูจน์ พร้อมกันคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่


พร้อมประสานชุดเก็บกู้ระเบิดของตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต เข้าทำการเก็บกู้ และทำลายวัตถุระเบิดดังกล่าว โดยใช้ปืนแรงดันน้ำยิงสกัดทำลายวงจรภายใน และเข้าทำการเก็บกู้และตรวจสอบที่เกิดเหตุ นอกจากนั้น บริเวณใกล้เคียงกันมีเหตุระเบิดเกิดขึ้น และมีไฟลุกไหม้ เจ้าหน้าที่ต้องประสานเจ้าหน้าที่ และรถดับเพลิงเข้าทำการดับเพลิงเพื่อไม่ให้ไฟลุกลาม พร้อมทั้งประสานหน่วยกู้ชีพพร้อมรถพยาบาลเข้าช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากนำส่งโรงพยาบาล


ซึ่งการฝึกซ้อมในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ตามข้อบังคับขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ได้กำหนดให้แต่ละท่าอากาศยานของรัฐภาคี ต้องจัดให้มีแผนฉุกเฉินเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง และให้มีการดำเนินการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบ อย่างน้อย 1 ครั้ง ทุกๆ 2 ปี และแจกจ่ายแผนดังกล่าวให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทการบิน และบริษัทผู้ประกอบการรับทราบ เพื่อให้ปฏิบัติได้ถูกต้องเมื่ออยู่ในสถานการณ์จริง

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น