ยะลา - “พล.ต.ชรินทร์” หัวหน้าคณะทำงานส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอน เรียกประชุมด่วน หลังเกิดเหตุห้วงเดือนรอมฎอน 19 เหตุ พบมี 3 เหตุชัดเจนเกี่ยวข้องความไม่สงบ
วันนี้ (18 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมือง จ.ยะลา ว่า คณะทำงานศูนย์ประสานงานส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอน นำโดย พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว รองผู้อำนวยการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ได้มีการเรียกประชุมคณะทำงานเร่งด่วน หลังจากมีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา เพื่อประชุมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน และหลังการแถลงยุติเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่ในพื้นที่ยังคงมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมสรุป 8 วันที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ รวม 19 เหตุการณ์ และมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบ จำนวน 3 เหตุการณ์ คือเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหารชุด ร.ร้อย 15234 ชุดเฉพาะกิจทหารที่ 12 ถูกระเบิดได้รับบาดเจ็บ จำนวน 8 นาย ต.บาลอ อ.รามัน จ.ยะลา เมื่อวันที่ 11 ก.ค.56 เหตุลอบวางระเบิดทหารพรานลาดตระเวนเส้นทาง ที่ ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทำให้ทหารพรานเจ็บ 1 นาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 ก.ค.56 และเหตุลอบวางระเบิด และซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ทหารที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 17 ก.ค.56 ที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 3 เหตุชี้ชัดว่าเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบ
พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว หัวหน้าคณะทำงานเปิดเผยว่า คณะทำงานศูนย์ประสานงานส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอน ได้มีการประชุมเร่งด่วนเพื่อหารือเหตุการณ์ตั้งแต่ห้วงเดือนรอมฎอน วันที่ 10 กรกฎาคม 56 เป็นต้นมา ถึงวันนี้ (18 ก.ค.) ผ่านมาแล้ว จำนวน 8 วัน ว่ามีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง และทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นหน้าที่ที่คณะกรรมการชุดนี้จะต้องเร่งติดตามตรวจสอบสาเหตุข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร
“ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกำลังเป็นที่สนใจของสังคมก็คงเป็นเหตุการณ์ลอบยิงผู้นำศาสนาในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา จนทำให้เสียชีวิต ซึ่งทางคณะทำงานฯ จะประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินคดี และเร่งตรวจสอบสาเหตุอย่างเร่งด่วน” พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว กล่าว
อย่างไรก็ตาม การติดตามเร่งรัดหามูลเหตุ ทางคณะทำงานเปิดเผยว่า หลังมีการประชุมเร่งด่วนในวันนี้แล้ว คาดว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์ จะมีการประชุมหารือและนำข้อมูลจากการลงพื้นที่ติดตามมาสรุปหารือร่วมกันในคณะทำงานอีกครั้ง เพื่อจำส่งข้อมูลดังกล่าวไปสอบถามคู่พูดคุยสันติภาพว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการกระของกลุ่มใด