xs
xsm
sm
md
lg

ชาวประมงปัตตานียื่นหนังสืออธิบดีกรมประมงแก้ปัญหา “ไอโง่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - ชาวประมงอวนลอยปัตตานีบุกเข้ายื่นหนังสืออธิบดีกรมประมง ขอความช่วยเหลือแก้ปัญหาลอบ “ไอโง่” เครื่องมือประมงที่สร้างปัญหาให้แก่ประมงอวนลอยเกือบสิ้นเนื้อประดาตัว

วันนี้ (4 ก.ค.) ที่บริเวณลานวัฒนธรรมหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประมุข ลมุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายเวชมนต์ บุญผ่องศรี ประมงจังหวัดปัตตานี ได้ร่วมเป็นประธานในพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำระบบออนไลน์พร้อมกัน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี สงขลา และนราธิวาส มอบวัสดุ อุปกรณ์ เช่น ปะการังแบบพื้นบ้าน จำนวน 2000 ชุด มอบเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่กฎหมาย อวนลอย กุ้ง และอวนลอยปู จำนวน 200 ชุด และมอบอุปกรณ์เพื่อใช้ในการแปรรูปให้กลุ่มแม่บ้าน จำนวน 5 ชุด โดยมีนายประมุข ลมุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี หัวหน้าส่วนราชการ นักเรียน และพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านจากจังหวัดสงขลา ปัตตานี นราธิวาส เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

ในขณะเดียวกัน นายมะแอ สาและ อยู่บ้านเลขที่ 32/1 ม.1 บ้านบูดี ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ประธานชมรมประมงอวนลอยปัตตานี ได้บุกเข้าพบอธิบดีกรมประมงนำเครื่องมือทำประมงลอบ พร้อมยื่นจดหมายเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเครื่องมือลอบดังกล่าว หลังจากได้สร้างปัญหาให้แก่ชาวประมงในอ่าวปัตตานีใกล้สิ้นเนื้อประดาตัว

 
ด้าน ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยว่าวันนี้ชาวบ้านได้ร้องเรียนว่า ในอ่าวปัตตานี ขณะนี้ได้มีการใช้เครื่องมือทำประมงแบบไอโง่ จำนวนมากขึ้น ขอเรียนชี้แจงว่า เครื่องมือประเภทนี้ยังไม่มีการประกาศห้ามไว้ในกฎหมาย เป็นเพราะว่ามีการพัฒนาเครื่องมือขึ้นใหม่มาตอนหลัง จึงได้สั่งให้มีการศึกษาข้อมูลว่าจะสามารถจับสัตว์น้ำเล็กใหญ่ขนาดไหนได้บ้าง ซึ่งเราได้รวบรวมข้อมูลไปบ้างแล้ว จึงเรียนชี้แจงพี่น้องชาวประมงปัตตานี ว่า เราจะรับเรื่องนำไปพิจารณาดูต่อไป

นายมะแอ สาและ ประธานชมรมประมงอวนลอยปัตตานี กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องบุกเข้ามาพบอธิบดีในครั้งนี้ พร้อมนำอุปกรณ์เครื่องลอบหรือไอโง่ และลูกกุ้ง ให้อธิบดีกรมประมงเกษตรและสหกรณ์ เห็นด้วยตาจริงถึงผลกระทบจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว เนื่องจากชาวประมงอวนลอยปัตตานีปัจจุบันใกล้ที่จะสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะลอบดังกล่าวสามารถจับกุ้งทุกขนาด ไม่เว้นแม้กระทั่งขนาดกุ้งฝอย จึงทำให้สัตว์น้ำในอ่าวปัตตานีใกล้จะสูญพันธุ์จากการใช้เครื่องมือลอบดังกล่าว แต่ที่ผ่านมา หน่วยงานในพื้นที่ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้กับเครื่องมือลอบดังกล่าวเนื่องจากไม่มีกฎหมายห้าม
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น