xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสิงหนครร้องกรรมสิทธิฯ หวั่นเสาโทรศัพท์ทำลายสุขภาพคนในชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวบ้านหัวเขา อ.สิงหนคร ร้องกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หวั่นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มีผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากเสาฐานตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนเพียง 15 เมตร “ดีเทค” แจงไม่มีหลักเกณฑ์ใดคุ้มครองชุมชน และยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีผลกระทบ ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการติดตั้ง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอาจจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว

วันนี้ (2 ก.ค.) ที่โรงแรมกรีนเวิลด์พาเลซ สงขลา อ.เมือง จ.สงขลา คณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และตัวแทนจาก กสทช. ตัวแทนจากจังหวัดสงขลา ตัวแทน กสทช.เขต 4 สงขลา ตัวแทนจากบริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีเทค ตัวแทนจากบริษัท เอไอเอส ดร.สุเมธ วงศ์พานิชเลิศ พยานผู้เชี่ยวชาญ และชาวบ้านจาก อ.สิงหนคร ร่วมชี้แจงด้วยวาจา กรณีเสารับสัญญาณโทรศัพท์ โดย นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธาน ไต่สวนข้อเท็จจริง หลังจากที่ประชาชนบ้านหัวเขา ม.6 ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา ร้องเรียนไปยังกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องได้รับผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนในชุมชนเพียง 15 เมตร

ซึ่งจากการชี้แจงของทั้ง 2 บริษัท เจ้าของเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกอย่าง แต่ยังไม่สามารถตอบคำถามได้ชัดเจนในกรณีข้อกำหนดระยะห่างของเสาสัญญาณโทรศัพท์กับชุมชน โดยอ้างว่า ไม่ได้มีข้อกำหนดถึงเรื่องนี้ แต่ได้มีการชี้แจงคุ้มครองเฉพาะธุรกิจการบินเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ ตัวแทนของทั้ง 2 บริษัท และ กสทช.ไม่สามารถอธิบายถึงข้อซักถามได้อย่างชัดเจน ประธานในที่ประชุมจึงขอให้ผู้บริหารส่งข้อมูลที่ชัดเจนรายงานให้ทางกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นทางบริษัทดีเทค และเอไอเอส ยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่จะเกี่ยวข้องในภายหน้าต่อไป

ด้าน ดร.สุเมธ วงศ์พานิชเลิศ พยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นผู้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากคลื่นสัญญาณโทรคมนาคมที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่ใช้บริการ หรือประชาชนที่อยู่ใกล้ชิดแหล่งสัญญาณ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทางสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมจึงได้นำข้อมูลไปจัดทำเป็นหนังสือ “ผลกระทบต่อสุขภาพจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า”

ดร.สเมธ กล่าวว่า จากการที่ได้ศึกษาถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ประเด็นข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ที่อยู่โดยรอบของเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีความเสี่ยงในด้านสุขภาพ และสรุปประเด็นข้อเรียกร้องได้ 5 ข้อ คือ 1.กสทช.ตรวจสอบไม่พบการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 2.ตั้งแต่ก่อนการตั้งเสาไม่มีการจัดเวทีทำความเข้าใจกับชุมชน 3.เสาตั้งสัญญาณห่างจากโรงเรียน อนุบาล ประถม มะยม (700 คน) ในระยะเพียง 15-20 เมตร 4.ชาวบ้านมีความกังวลในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพจากการสะสมของรังสี (คลื่นวิทยุ) และ 5.เป็นการละเมิดสิทธิชุมชนโดยชาวบ้านในพื้นที่กังวลอยู่ไม่เป็นสุข

อย่างไรก็ตาม ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ตามข้อ 12.5 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่จะติดตั้ง และบริเวณใกล้เคียงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัย และป้องกันความวิตกกังวลของประชาชนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในกรณีบริเวณที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ที่มีความเสี่ยงจากการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น สถานพยาบาล โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ทั้งนี้ คณะกรรมการอาจร้องขอให้มีการแสดงหลักฐานการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ในกรณีที่จำเป็น

นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากแหล่งข่าวในพื้นที่อีกว่า ประชาชนในพื้นที่ได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหลายครั้งแล้วแต่ไม่เป็นผล ในขณะที่มีการยื่นเรื่องก็ได้มีการระงับการส่งสัญญาณ แต่ก็กลับมีการปล่อยสัญญาณกลับมาเช่นเดิมอีก ทางชาวบ้านในพื้นที่จึงได้มีการร้องเรียนไปยังกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อให้มีการไต่สวนดังกล่าว




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น