ยะลา - ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ยันข้อเสนอ “ยุติเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน” เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เชื่อ 6 ข้อ บีอาร์เอ็นเป็นไปได้ยาก จะต้องผ่านกระบวนการพุดคุยในระยะยาวอีกครั้งหนึ่ง
จากกรณีที่ นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออดิเนต ซึ่งร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย ได้เผยแพร่คลิปคำประกาศของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ครั้งที่ 4 ผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์เมื่อกลางดึกของคืนวันจันทร์ที่ 24 มิ.ย.2556 โดยเป็นการกำหนดเงื่อนไขต่อรัฐบาลไทย รวม 6 ข้อ ในการปฏิบัติในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งทางบีอาร์เอ็นก็จะยุติการปฏิบัติการทางทหารกับเจ้าหน้าที่ไทยในช่วงเดือนรอมฎอนเช่นกัน
เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep SouthWatch : DSW) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องจากฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น หลังจากที่ตกลงกันแล้วในวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ซึ่งคิดว่าหลายๆ ข้ออาจจะดูยากในทางปฏิบัติ อันนี้อาจจะเป็นประเด็นหนึ่งที่จะทำให้ต้องมีการพุดคุยกันต่อไปว่าทำอย่างไรที่จะหาจุดที่สามารถดำเนินการได้เฉพาะหน้าสำหรับเดือนรอมฎอน เพราะเป็นข้อเรียกร้องในการลดความรุนแรง หรือยุติความรุนแรง เป็นข้อเรียกร้องจากประชาชน จากผู้นำศาสนาในพื้นที่ ที่จะให้เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งสันติสุขอย่างแท้จริง
“จะต้องมีการถอยคนละก้าวเพื่อเห็นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพราะอันนี้ไม่ใช่ข้อเสนอที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอขึ้นมา แต่มาจากผู้นำศาสนาในพื้นที่เองนำเสนอขึ้นมาก่อน แล้วนำไปสู่ประเด็นการพูดคุยในวันที่ 13 มิ.ย. เป็นข้อเสนอจากข้างล่างจริงๆ มาจากความต้องการของประชาชนจริงๆ ถ้าบีอาร์เอ็นจะช่วยตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชน อย่างน้อยในช่วงเดือนรอมฎอน โดยการที่จะทำให้มีความเป็นไปได้ให้มากกว่านี้ ข้อเสนอข้อเรียกร้องก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน อยากจะเห็นผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ยังกล่าวถึงความเป็นไปได้ของข้อเรียกร้อง 6 ข้อล่าสุด ว่า บางข้อมีส่วนหนึ่งที่ทางกองทัพภาคที่ 4 เตรียมการกำลังดำเนินการ บางข้อก็อาจต้องใช้เวลาถ้าหากต้องมีการดำเนินการ เช่น โยกย้ายทหาร ตำรวจ ที่มาจากต่างภาคอื่นออกไปนอกพื้นที่ อันนั้นเป็นข้อเรียกร้องในระยะสั้น ก็อาจเป็นไปได้ถ้าจะเกิดขึ้นในระยะยาว ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว ตนคิดว่าจะต้องผ่านกระบวนการพุดคุยในระยะยาวอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเป็นการเฉพาะหน้าตนคิดว่าเป็นไปได้ยากมาก