สตูล - ประมงพื้นบ้านเรียกร้องให้หน่วยงานกรมประมงจัดสรรพื้นที่พักฟื้น ที่อาศัยสัตว์น้ำวัยอ่อนใต้ท้องทะเล หลังพบ วิกฤตเรือประมงลากคู่ ลากเดี่ยวของต่างจังหวัดเข้ามาหาจับสัตว์น้ำในอาณาเขตจำนวนมาก ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดน้อยลงอย่างมาก
วันนี้ (18 มิ.ย.) จังหวัดสตูลพบปัญหาเรือประมงขนาดใหญ่ที่วิ่งมาจากพื้นที่น่านน้ำฝั่งอันดามันใกล้เคียงจากจังหวัดตรัง ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง นำเรือประมงเข้ามาหาปลาในน่านน้ำทะเลของจังหวัดสตูลเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบทำให้สัตว์น้ำของจังหวัดสตูลลดลง สัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับ เพราะไม่มีการประกาศการสั่งปิดอ่าวในฤดูวางไข่ เหมือนจังหวัดอื่นๆ ทางทะเลในฝั่งอันดามัน
ขณะเดียวกัน ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล หลายพื้นทั้ง 7 อำเภอที่เรียกร้องให้ทางประมงจังหวัดสตูล หารือวางแผน หาแนวทางกำหนดจุดปิดพื้นที่ที่มีสัตว์เลี้ยงวัยอ่อนได้อาศัยหลบเครื่องมือประมงทุกชนิด โดยในวันนี้มีการทำประชาคมหมู่บ้านครั้งที่ 3 ที่ห้องประชุมสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 35 ต.เจ๊ะบิลัง อ.เมือง จ.สตูล ซึ่งมีชาวประมงพื้นบ้านมาร่วมรับฟังแสดงความคิดเห็น
ล่าสุด นายบรรเจิด บุญแท้ ประมงจังหวัดสตูล กล่าวว่า ได้วางแผนกำหนดพื้นที่คร่าวๆ ไว้บริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ประมาณ 235 ตารางกิโลเมตร โดยทางทิศเหนือติดกับแหลมพันล้านของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา บรรจบที่เกาะเขาใหญ่ อ.ละงู จ.สตูล ส่วนทางทิศใต้ เกาะสิงในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ติดกับแหลมปูยู ต.ปูยู อ.เมือง จ.สตูล ซึ่งจะทำประชาคมหมู่บ้านกับชาวประมงพื้นบ้าน และผู้ประกอบอาชีพประมงเรืออวนลากคู่ ลากเดี่ยวที่เป็นเรือขนาดใหญ่หารือพูดคุยให้ครบ 7 ครั้งทุกพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ทำไปแล้ว 3 ครั้ง โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านประมงพื้นบ้านจะเห็นด้วย เพราะอ้างเหตุผลว่า เรือประมงขนาดใหญ่โดยเฉพาะเรืออวนลากคู่ เข้าไปลากสัตว์น้ำวัยอ่อน และเครื่องมือประมงพื้นบ้านเสียหายไปแล้วหลายราย
ด้านนายอารีย์ ติงหวัง ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า อยากให้จัดการเป็นรูปแบบให้ดี เพราะตอนนี้มีเรือขนาดใหญ่จากต่างจังหวัดแห่เข้ามาจับสัตว์น้ำในจังหวัดสตูล และเข้ามาถึงหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา กวาดล้างทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อนจนหมด จึงอยากให้ประมงจังหวัดแสดงท่าทีให้เข้มแข็ง ออกกฎหมายเข้ม เพราะตอนนี้ส่วนใหญ่ชาวประมงพื้นบ้านกว่า 3,000 ครอบครัว ที่ทำประมงต้องการให้ออกกฎ ถือว่าวิกฤตสัตว์น้ำในทะเลสตูลลดลงอย่างมาก
สำหรับการทำประชาคมหมู่บ้านที่เชิญชาวประมงพื้นบ้าน ชาวประมงขนาดใหญ่ เพื่อกำหนดจุดพักฟื้น และเขตห้วงห้ามในการพักฟื้นสัตว์วัยอ่อน ในพื้นที่ 235 ตารางกิโลเมตร ยังต้องทำประชาคมหมู่บ้านให้ครบ 7 ครั้ง ทุกพื้นที่ และนำไปให้ทาง นายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลพิจารณาก่อนส่งไปยังกรมประมงพิจารณา