สกว.จับมือ มทร.ศรีวิชัย ระดมสมองแก้ปัญหาไม้ผลเมืองคอน หลังชาวบ้านโอด ประสบปัญหาราคาตก คุณภาพต่ำ วอนทุกภาคส่วนร่วมแก้ ด้าน สกว.ดึงเครือข่ายภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ เกษตรกร ร่วมเวทีหาโจทย์วิจัย พร้อมทุ่มงบลงขันร่วมกับ มทร.ศรีวิชัยทำวิจัยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช จัดเวทีระดมสมองค้นหาโจทย์วิจัยด้านไม้ผลจังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้นที่ห้องประชุมใหญ่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.นครศรีธรรมราช มีภาคีเครือข่ายเข้าร่วม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และเกษตรกรชาวสวน โดยมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง “ศักยภาพ โอกาส และทางรอด ไม้ผลเชิงพื้นที่” โดยมีตัวแทนจากเกษตรกรผู้ผลิตมังคุด ส้มโอ เงาะ นักวิชาการเกษตร ตัวแทนจากบริษัทเอกชน และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยร่วมวงเสวนา
วิรัตน์ สุขแสง เกษตรกรผู้ผลิตส้มโอ (พันธุ์ทับทิมสยาม) กล่าวว่า “ในอดีตการผลิตส้มโอในพื้นที่ปากพนังอาศัยความรู้ดั้งเดิมที่มีมาใช้ เป็นการผลิตแบบตามยถากรรม โดยขาดความรู้ทางวิชาการมาสนับสนุน ควบคุมคุณภาพการผลิตไม่ได้ ต่อมา มีการตั้งกลุ่มวิสาหกิจส้มโอเพื่อปรับปรุงคุณภาพของส้มโอ ซึ่งได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงกรตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาคุณภาพของส้มโอทับทิมสายามไว้ ซึ่งส้มโอสายพันธุ์นี้มีจุดเด่น คือ เนื้อสีแดงเข้ม รสชาติหวาน หอม นุ่ม เป็นที่ต้องการของตลาด และมีราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งในกระบวนการผลิตยังพบปัญหาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัญหาแมลงศัตรูพืช สภาพดินและน้ำ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น เกษตรกรในพื้นที่จึงมีความต้องการความรู้ทางวิชาการเข้าไปสนับสนุน ซึ่งก็ได้คณาจารย์จากคณะเกษตร มทร.ศรีวิชัย นครศรีธรรมราช เข้ามาช่วย”
นายณรงค์ คงมาก ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตเงาะท่าเรือ อ.ชะอวด จ.นครรีธรรมราช หนึ่งในผู้ร่วมวงเสวนา เสนอว่า “ควรมีการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนงาน ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มได้จัดตั้งสหกรณ์นครผัก ผลไม้ 56 จำกัด โดยสมาคมชาวสวนมังคุด (ไม้ผล) จังหวัดนครศรีธรรมราช มีสมาชิกทั้งหมด 91 คน ภายใต้การสนับสนุนของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสหกรณ์มีแนวคิดหลักร่วมกัน คือ การรวมตัวกันเพื่อบริหารจัดการการตลาด ผลผลิตผักผลไม้ การจัดการปัจจัยการผลิต และการจัดการสิ่งที่สมาชิกอุปโภคบริโภค ให้อยู่ในรูปแบบของการผลิตเอง บริโภคเอง แปรรูปเอง ขายกันเอง และขายภายในเครือข่ายกันเอง และขายให้ผู้บริโภคโดยตรงทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้สหกรณ์เป็นองค์กรขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ แปลงแนวคิดสู่การปฏิบัติ เน้นการพัฒนาสหกรณ์ ภายใต้หลักการ 3 ด้าน คือ ผู้บริโภคปลอดภัย สมาชิกมั่นใจ สหกรณ์มั่นคง”
ด้าน ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ สกว. ให้ความเห็นว่า “เกษตรกรในภาคใต้ทำการเกษตรแบบวิถีดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ มีค่าจ้างแรงงานสูง การทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรมจะทำได้ยากมาก ทั้งในเชิงการลงทุน การเก็บเกี่ยว การควบคุมคุณภาพ จะมีแค่บางกลุ่มเท่านั้นที่ทำได้ ส่วนใหญ่ทำไม่ได้ หากต้องการก้าวไปสู่ราคาที่ดีกว่าต้องควบคุมคุณภาพให้ได้”
ขณะเดียวกัน นายสมศักดิ์ ศุภธีรวงศ์ ผู้จัดการ บริษัท Rich Field Fresh Fruit (ตราหัวมังกร) กล่าวว่า ทางบริษัทรับซื้อผลไม่เกือบทุกอย่างตามฤดูกาลใน จ.นครศรีธรรมราช โดยรับซื้อมังคุดเป็นหลัก รองลงมาคือ ทุเรียน และเงาะ ซึ่งนโยบายของบริษัทคือ ทำผลไม้ที่มีคุณภาพ ต้องกินได้ ส่งไปให้ใครกินก็ได้ โดยราคาของมังคุดจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ สภาพดินฟ้าอากาศ ลักษณะพันธุ์ และลักษณะการเก็บเกี่ยว ฉะนั้น เกษตรกรต้องรักษาคุณภาพผลผลิตให้มีคุณภาพดี อย่าขายผลผลิตก่อนระยะเวลาที่กำหนด
ด้าน นายประจบ การุณกิจ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงมีผลต่อการออกดอกของไม้ผล เกษตรกรหลายรายจึงเปลี่ยนไปปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมันมากขึ้น ในทางกลับกันก็เป็นโอกาสของคนที่ยังไม่ปรับเปลี่ยน เพราะราคาไม้ผลจะเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรต้องทำมาตรฐาน GMP ทุกสวน เพื่อยกระดับ สำหรับภาครัฐมีงบประมาณในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนไม้ผลหลายแห่ง ได้แก่ งบพัฒนาไม้ผลกลุ่มจังหวัด รวมทั้งงบประมาณจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สอดรับกับความเห็นของ รศ.ดร.สายัณห์ สดุดี อาจารย์จากคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.สงขลานครินทร์ ที่ว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมาก เห็นได้จากฝนในช่วงฤดูร้อนจะมาก และโดยเฉพาะ จ.พัทลุง และ จ.นครศรีธรรมราช หากมองย้อนไป 2-3 ปีที่ผ่านมา น้ำจะท่วมมาก หากเกษตรกรต้องการช่วงแห้งแล้งเพื่อกระตุ้นการออกดอกของภาคใต้จะทำได้ยากขึ้น การออกดอกจะเลื่อนมา ดังนั้น การจัดการเกษตรแบบดั้งเดิมอาจใช้ไม่ได้ จึงควรมีงานวิจัยเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อยืนยันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ให้เกษตรกรเห็นภาพร่วมกัน และประกอบในการตัดสินใจจัดการผลผลิตร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม จากการระดมสมองดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่า จ.นครศรีธรรมราช ยังประสบกับปัญหาหลักๆ ในเรื่องการจัดการผลผลิตให้มีคุณภาพ และการบริหารจัดการด้านการตลาด ซึ่งน่าจะเป็นโจทย์วิจัยที่ต้องเร่งทำก่อน และหลังจากนี้ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยสำนักประสานงาน “การวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง” และ ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จะช่วยกันสกัดโจทย์วิจัยอีกครั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งโจทย์วิจัยที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างแท้จริง