ยะลา - หน่วยเฉพาะกิจยะลา เปิดกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยครู เข้มแผน รปภ.รับเปิดภาคเรียน ขณะ ผบ.ฉก.ยะลา สั่งกำลังค้นหาจุดเสี่ยงอุดช่องว่าง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุทำร้ายครู
วันนี้ (10 พ.ค.) ที่ห้องประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดยะลา ศาลากลางจังหวัดยะลา พล.ต.ปราการ ชลยุทธ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา ได้เรียกประชุม เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคง 7 หน่วย ประกอบด้วย หน่วยเฉพาะกิจยะลา 11, 12, 13, 15, 16 หน่วยเฉพาะกิจทหารพราน 33 และ 47 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กอ.รมน.จังหวัดยะลา ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลาเขต 1-3 ผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่
เพื่อชี้แจง และร่วมทำความเข้าใจในแผนการรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการศึกษาในช่วงเปิดเทอม ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยเฉพาะกิจยะลา จำนวน 311 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนระดับประถมศึกษา 228 โรงเรียน ระดับมัธยมศึกษา 12 โรงเรียน และโรงเรียนเอกชน 71 โรงเรียน
พล.ต.ปราการ ชลยุทธ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา กล่าวว่า ในช่วงที่จะเปิดเทอมนี้ ทางหน่วยเฉพาะกิจยะลา ได้ให้ทุกหน่วยกำหนดการปฏิบัติในรายละเอียดเพื่อให้เกิดความเข้าใจแผนการ รปภ.ที่ตรงกันเป็นรายบุคคล และสถานศึกษา ซึ่งความเข้าใจระหว่างหน่วยกำลังกับผู้บริหารสถานศึกษาจะทำให้เกิดความไว้วางใจ และครูก็เกิดความสบายใจ ผู้บริหารเองก็จะได้มีการประสานแผนกับกองกำลังในการแก้แผนปรับแผนกันอย่างไร
โดยทาง ฉก.ยะลา ร่วมกับ จ.ยะลา ได้เปิดกองอำนวยการร่วมในการ รปภ.ครู ช่วงก่อนที่จะเปิดภาคเรียน ตั้งแต่วันที่ 7-17 พ.ค นี้ ซึ่งกองอำนวยร่วมรักษาความปลอดภัยครูก็จะทำหน้าที่ในการแก้แผนเป็นรายวันในแต่ละพื้นที่ของ จ.ยะลา ผู้บริหารสถานศึกษาใดมีปัญหาขัดข้องไม่สบายใจต้องการความมั่นใจตรงไหนก็จะมีการปรับแก้ไปพร้อมกันกับกำลัง 3 ฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ อำเภอ
ส่วนการประชุมวันนี้ ก็ได้ทราบจากผู้บริหารสถานศึกษา ว่า ตามโรงเรียนต่างๆ จะมีกิจกรรมของครูที่นอกเหนือจากการ รปภ. ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้มีการวางแผนไว้แล้ว ก็ได้ประสานกับผู้บริหารไปแล้วว่า ถ้ามีเหตุที่ต้องปฏิบัติงานนอกเวลา นอกแผน ก็ให้แจ้งต่อหน่วยกำลังเป็นรายโรงเรียน ทาง จนท.หน่วยความมั่นคงก็พร้อมที่จะจัดชุดคุ้มครองให้
สำหรับในส่วนพื้นที่รอยต่อที่เป็นจุดเสี่ยงนั้น ฉก.ยะลา ได้เรียก ผบ.หน่วยแต่ละพื้นที่มาวางแผนร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในรอยต่อนี้ และทาง ฉก.ยะลา ก็จะไปดูจุดเสี่ยง จุดอันตรายเพื่อปิดช่องว่าง โดยให้กำลัง 3 ฝ่าย ในระดับอำเภอตรวจค้น ตรวจหาจุดอันตราย และปิดท่อลอด หรือจัดกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าไว้เพื่อป้องกันการนำวัตถุระเบิดเข้ามาวางตามจุดเสี่ยงต่างๆ