xs
xsm
sm
md
lg

มรภ.ภูเก็ตเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการกระบือโลก ครั้งที่ 10

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพการประชุมวิชาการกระบือโลก ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคมนี้ เพื่อเตรียมส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ ร่วมบูรณาการประยุกต์ภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับการท่องเที่ยวในจังหวัด

วันนี้ (1 พ.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ผศ.ดร.ประภา กาหยี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต พร้อมด้วย รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย ประธานกรรมการจัดการประชุมวิชาการกระบือโลก ร่วมแถลงข่าวการจัดการประชุมวิชาการกระบือโลก โดยมี ดร.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน และมีหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย ประธานกรรมการจัดการประชุมวิชาการกระบือโลก กล่าวว่า สำหรับการจัดงานประชุมในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากได้มีการจัดประชุมเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 ซึ่งจะจัดประชุมทุกๆ 3 ปี ทั้งนี้ สถานที่จัดงานประชุมจะเวียนไปตามประเทศสมาชิกต่างๆ ทั่วโลก ในการประชุมครั้งที่ 9 ณ เมืองบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา 25-28 เม.ย.2553 ที่ผ่านมา มีการเสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 10 โดยเสนอจัดในเดือน พ.ค.2556 ณ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับความสนใจจากคณะกรรมการบริหารของ IBF (International Buffalo Federation สมาพันธ์กระบือนานาชาติ) เป็นอย่างมาก และในการประชุมคณะกรรมการบริหารของ IBF ได้มีมติเอกฉันท์ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และมอบให้ รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย ดำรงตำแหน่ง President ของ IBF ระหว่างปี 2553-2556 ศ.ดร.เมธา วรรณพัฒน์ ดำรงตำแหน่ง Vice President ของ IBF

ในการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการศึกษา และเพิ่มจำนวนกระบือ อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ทำวิจัยทางด้านกระบือในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยจะทำการจัดงานระหว่างวันที่ 6-8 พ.ค.2556 การประชุมครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน จาก 35 ประเทศ โดยทั้ง 3 วัน จะมีการจัดประชุมทางวิชาการ เช่น วันที่ 6 พ.ค. Keynote Lecture และการบรรยาย Plenary วันที่ 7 พ.ค.เป็นการประชุมภาคบรรยายใน 10 สาขา เช่น Physiology, Reproduction, Health ฯลฯ และประชุมกรรมการบริหารสมาพันธ์กระบือโลก วันที่ 8 พ.ค. ซึ่งเป็นการประชุมภาคบรรยาย และประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมกระบือแห่งเอเชีย สุดท้ายเป็นพิธีแจกรางวัลต่างๆ และประกาศประเทศที่จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมฯ ครั้งต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.ประภา กล่าวเสริมว่า ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ในขณะที่พื้นฐานเดิมของจังหวัดภูเก็ต มาจากภาคเกษตรกรรม ทำสวน ทำนา ทำประมง ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เช่นเดียวกับพื้นที่ของภาคอื่นๆ แต่ด้วยความเจริญทางเศรษฐกิจที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง บวกกับศักยภาพทางด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ ส่งผลให้จังหวัดภูเก็ตมีความโดดเด่นในด้านการท่องเที่ยว จนทำให้ภาคเกษตรที่เคยมีมาลดน้อยลงไป ประเด็นดังกล่าวนี้ ทางมหาวิทยาลัยฯ พยายามจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่หลากหลาย ส่วนหนึ่งเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น และเพื่อรักษาและธำรงไว้ซึ่งความเป็นท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ ให้คงอยู่ โดยเฉพาะวิถีชีวิต แบบแผน วัฒนธรรมของท้องถิ่น เหล่านี้ได้จัดทำเป็นหลักสูตรการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ เช่น คณะเทคโนโลยีการเกษตร มีหลักสูตรการจัดการทรัพยากรการเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว ทั้งนี้ เป็นการบูรณาการทรัพยากรของท้องถิ่นให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ดังนั้น ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยฯ มองว่าสามารถที่จะพัฒนาแนวทางในการจัดทำหลักสูตรให้มีขอบข่ายที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบัน การท่องเที่ยวมีรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวได้หลากหลายรูปแบบ ในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงเกษตรยิ่งได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นจากกลุ่มนักท่องเที่ยว เป็นที่น่าสังเกตว่า การนำเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาเป็นจุดขายให้แก่จังหวัด นับว่าเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนอีกทางหนึ่ง ในขณะเดียวกัน ยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางการเกษตร ที่มีความสำคัญให้คงอยู่กับสังคมจากรุ่นสู่รุ่นได้ ในการจัดการประชุมกระบือครั้งนี้ จะเป็นการช่วยสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของกระบือมากขึ้น หากนำไปสู่การปรับประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่น จะเกิดประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างมาก

 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น