xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานเปิดเวทีระดมความคิด ร่วมแก้ปัญหาน้ำท่วมชุมพร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชุมพร - กรมชลประทานเปิดเวทีระดมความคิด ศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัย และบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา และภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นำร่องโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำคลองตะโก ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (30 เม.ย.) ที่โรงแรมชุมพรแกรนด์พาเลซ อำเภอเมือง จ.ชุมพร นายปฐม สาธิตานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานในการประชุมโครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัย และบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา และภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดชุมพร โดยกรมชลประทาน เพื่อนำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะมาปรับปรุงรายงานผลการศึกษาโครงการให้สมบูรณ์ และใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ต่อไป

นายสมเกียรติ ประจำวงศ์ ผอ.สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการดำเนินโครงการ กรมชลประทานได้พิจารณาคัดเลือกโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำคลองตะโก ซึ่งมีลำดับความสำคัญสูง และสอดคล้องกับความต้องการของราษฎรไปศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายละเอียดด้านวิชาการ พร้อมทั้งสำรวจออกแบบเบื้องต้น พบว่า ลุ่มน้ำคลองตะโก ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่ประสบปัญหาน้ำท่วมค่อนข้างรุนแรง ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยการปรับปรุงคลอง และก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในลำน้ำให้มีความสามารถในการระบายน้ำสอดคล้องกันทั้งระบบ อีกทั้งยังจะช่วยเก็บกักน้ำในลำน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ราษฎรบริเวณริมสองฝั่งคลองมีน้ำใช้เพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี

“การศึกษารายละเอียดรอบด้านทั้งด้านวิชาการ วิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังได้ทำการรวบรวมความคิดเห็นจากหลายฝ่าย ทำให้สามารถจัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำจังหวัดชุมพร จำแนกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย แผนพัฒนาลุ่มน้ำโครงการระดับลุ่มน้ำ เน้นแก้ไขปัญหาพื้นที่ระดับลุ่มน้ำที่มีความสำคัญทั้ง 8 ลุ่มน้ำหลักของจังหวัดขุมพร โดยหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ จำนวน 16 โครงการ และแผนพัฒนาลุ่มน้ำโครงการระดับท้องถิ่นเน้นแก้ไขปัญหาเฉพาะพื้นที่ และดำเนินการโดยท้องถิ่นเอง จำนวน 979 โครงการ” นายสมเกียรติกล่าวและว่า

หากมีการดำเนินการตามแผนพัฒนาลุ่มน้ำที่ได้ศึกษา ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนอกจากจะช่วยบรรเทาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิผลแล้ว ยังสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่จากการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำขนาดต่างๆ ได้อีกกว่า 851.40 ล้าน ลบ.ม. สามารถกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ได้อย่างทั่วถึง เพิ่มพื้นที่ชลประทาน และพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการระดับลุ่มน้ำได้อีก 329,251 ไร่ จากปัจจุบันมี 185,363 ไร่ เป็น 514,614 ไร่และเมื่อรวมกับพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการระดับท้องถิ่นอีก 134,367 ไร่ จะทำให้มีพื้นที่ชลประทานถึง 648,981ไร่ และยังจะทำให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมอย่างมั่นคง และพอเพียง ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำอีกด้วย

 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น