xs
xsm
sm
md
lg

ภัยแล้งระนองส่อเค้าวิกฤต หลังปลาในบึงวัดหงาวลอยตายนับหมื่นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระนอง - เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่วัดบ้านหงาว (วัดวังมัจฉา) หลังพระภิกษุแจ้งเหตุพบปลาลอยตายอยู่ในเหนือผิวน้ำจำนวนมาก ด้านกำนันตำบลบ้านหงาว เผยเนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด จนทำให้อุณหภูมิในหนองน้ำพุ่งสูงกว่าเกณฑ์ปกติ จึงส่งผลให้ปลาตาย พร้อมสั่งดำเนินการแก้ไข เกรงกระทบวิถีชีวิตชาวบ้าน

วันนี้ (27 เม.ย.) นายสงัด สวาทนันท์ กำนันตำบลหงาว อ.เมือง จ.ระนอง เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากพระภิกษุสงฆ์ และเณรที่วัดบ้านหงาว หรือวัดวังมัจฉา เป็นวัดชื่อดัง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของ จ.ระนอง ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของปลานานาชนิดที่ทางวัดได้เลี้ยงไว้นับหมื่นตัว ลอยแพตายอยู่เหนือผิวน้ำเป็นจำนวนมาก ตนจึงรีบเดินทางมายังที่เกิดเหตุบริเวณหนองน้ำซึ่งเป็นขุมเหมืองเก่า พบพระลูกวัด และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ภายในวัดนำเรือออกไปตักปลาที่ตายลอยอยู่ตามผิวน้ำเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังสังเกตว่า ยังมีปลาจำนวนมากนับพันตัวที่ลอยคอด้วยอาการคล้ายกับขาดอากาศ หรือน็อกน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก จึงรีบประสานไปยังเทศบาลตำบลหงาว สำนักงานประมงจังหวัดระนอง เพื่อให้รีบส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ รวมถึงวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้ปลาตาย และหาทางช่วยเหลือปลาโดยการนำปูนขาวมาโรยบนผิวน้ำ

อย่างไรก็ตาม นายสงัด กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2547 ขณะนั้นเกิดวิกฤตภัยแล้งอย่างรุนแรงในเขตพื้นที่จังหวัดระนอง จนน้ำในขุมเหมืองแห้งขอด ต่อมา ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ปรากฏว่า หลังจากฝนตกส่งผลให้ปลาเกิดอาการน็อกน้ำตายกว่า 50,000 ตัว ต้องใช้รถกระบะขนหลาย 10 คันรถ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามหาวิธีการป้องกัน เช่น การสร้างประตูระบายน้ำ ขุดลอกคลอง เพื่อให้มีน้ำไหลเข้าออกจากคลองบ้านหงาวเข้ามายังหนองน้ำภายในวัดได้ รวมถึงการติดกังหันชัยพัฒนาเพื่อปรับความสมดุลอากาศภายในน้ำ ส่วนเหตุการณ์ในครั้งนี้คาดว่านอกจากภัยแล้งที่ส่งผลกระทบแล้ว ยังเกิดจากปัญหาการทับถมของเศษตะกอนบริเวณก้นบ่อซึ่งขาดการไหลเวียนของน้ำในพื้นล่างจึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น

ด้านพระอาจารย์ บุญชนะ อธิฏฐาโน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบ้านหงาว กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าวานนี้ก่อนออกไปบิณฑบาต สังเกตเห็นว่า มีปลาลอยตายเป็นจำนวนมาก จึงบอกญาติโยมให้เข้าไปดู หลังจากบิณฑบาตเสร็จจึงนำพระลูกวัดมาตรวจสอบ พบมีปลาตายเป็นจำนวนมาก จึงช่วยกันตักออกจากผิวน้ำ เนื่องจากว่าปลาบางตัวเริ่มเน่าเหม็น หากไม่ตักออกอาจจะยิ่งส่งผลให้น้ำเน่าเสียมากยิ่งขึ้น ส่วนสาเหตุคาดว่าน่าจะมาจากปัญหาภัยแล้ง น้ำในบึงลดปริมาณลง จำนวนปลามีปริมาณมาก ออกซิเจนมีปริมาณน้อย อากาศที่ร้อนจัดทำให้น้ำในบึงมีอุณหภูมิสูง โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ ตนเองเคยตักน้ำจากสระนำไปรดต้นไม้ข้างกุฏิพบว่า น้ำร้อนผิดปกติ แล้วจู่ๆ ตอนกลางคืนก็เกิดมีฝนตกลงมาอย่างหนัก

ขณะที่ นายสุวิทย์ คชสิงห์ เจ้าพนักงานประมงอาวุโส สำนักงานประมงจังหวัดระนอง ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากว่ามีฝนตกลงมามีปริมาณมาก มีน้ำฝนลงไปในสระน้ำมีปริมาณมากทำให้น้ำแยกชั้นกันอยู่ในสระเดิมกับน้ำใหม่ น้ำฝนที่ไหลลงสู่สระมีข้อเสียคือ มีตะกอน มีออกซิเจนค่อนข้างต่ำ ในเวลาช่วงเที่ยงคืนถึง 6 โมงเช้า เมื่อมาเจอน้ำฝนที่ชะหน้าดิน และเป็นตะกอนยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น เพราะทำให้ออกซิเจนด้านบนผิวน้ำลดน้อย ส่งผลให้ปลาตะเพียนซึ่งเป็นปลาเกล็ด เป็นปลาที่ต้องการออกซิเจน และอยู่ผิวน้ำจึงเกิดการตายเป็นจำนวนมาก การแก้ไขถ้าหากมีสภาวะฝนแบบนี้จะต้องตีน้ำด้านบน และด้านล่างผสมกันจะทำให้ลดปัญหาการตายของปลาฝูงนี้ได้ อีกแนวทางหนึ่งที่ควรปฏิบัติคือ ต้องควบคุมการให้อาหาร เพราะช่วงนี้ปลากำลังเครียด และกำลังปรับตัวกับสภาพน้ำที่กำลังผสมให้เข้ากัน ระหว่างน้ำฝน และน้ำในสระ อาหารควรงดสัก 5 วัน และปลาที่ตายต้องรีบเก็บตักขึ้นมา ถ้าไม่เก็บขึ้นมาจะเกิดการสะสมที่ก้นบ่อทำให้น้ำเสียได้

อย่างไรก็ตาม หากดูจากสภาพน้ำตอนนี้รู้สึกว่าดีขึ้นตามลำดับ เพราะเป็นช่วงกลางวันจะมีออกซิเเจนเพิ่มขึ้นโดยธรรมชาติจากแพลงก์ตอนที่อยู่ในบ่อซึ่งเกิดการสงเคราะห์แสงเมื่อได้รับแสงจากแสงแดด ขอย้ำอีกเรื่องหนึ่งคือ การตีน้ำ ช่วงเที่ยงคืนถึง 6 โมงเช้าต้องตีให้แรงจึงจะมีผลดี

 
 



กำลังโหลดความคิดเห็น