xs
xsm
sm
md
lg

“ศาลหลักเมืองตรัง” มีตำนานเล่าขานกว่า 2 ศตวรรษ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ศูนย์รวมจิตใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ศาลหลักเมืองตรัง” ตั้งอยู่ริมถนนเก่า สายตรัง-กันตัง ต.ควนธานี อ.กันตัง ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจ และเคารพบูชาของชาวจังหวัดตรัง เนื่องจากบริเวณนี้ในอดีต เป็นที่ตั้งของเมืองในสมัยแรก และยังเป็นสถานที่ที่พ่อเมืองทุกยุคทุกสมัยจะต้องกราบสักการะเป็นอันดับแรกเมื่อเข้ามารับตําแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด


ย้อนรอยไปกว่า 2 ศตวรรษ หรือ 201 ปีที่ผ่านมา เมื่อ พ.ศ.2355 ได้มีการตั้งเมืองตรังขึ้นที่ ต.ควนธานี และมีการบอกเล่าเชิงตำนานจากชาวบ้านรุ่นเก่าๆ ว่า ศาลหลักเมืองแห่งนี้มีวิญญาณเนื่องจากพิธีตั้งศาลหลักเมืองในยุคสมัยที่ “หลวงอุไภยธานี”เป็นเจ้าเมืองตรังคนแรกนั้น ได้ให้ทหารตีฆ้องร้องป่าวไปตามบ้านต่างๆ ถ้าผู้ใดขานรับ ให้นำตัวมาฝังในการตั้งศาลหลักเมือง โดยชาวบ้านส่วนใหญ่รู้เรื่องเข้า จึงไม่ยอมขานรับ แต่หญิงมีครรภ์ผู้หนึ่งนามว่า นางบุญมา กำลังทำอาหารเย็นอยู่ในครัว เกิดบังเอิญพลั้งเผลอขานรับ จึงนำตัวไปฝังพร้อมพิธีฝังเสาหลักเมืองที่ตั้ง “ศาลหลักเมืองตรัง” เดิมเป็นแค่เพิงเล็กๆ หลังคามุงสังกะสี ส่วนเสาหลักเมืองก็มีจอมปลวกขึ้นจนมองไม่เห็นตัวเสาแล้ว ดังนั้น เมื่อ พ.ศ.2504 ทางจังหวัดจึงได้สร้างศาลาขึ้นแทนเพิงหลังคาเก่า รวมทั้งสร้างรั้ว และปรับพื้นรอบๆ ศาลาในเวลาต่อมา

ณ สถานที่แห่งนี้ นับเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวตรังทั่วไป จนเกิดความเชื่อถือศรัทธาในทางความศักดิ์สิทธิ์ และมีการบนบานศาลกล่าวอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องดินฟ้าอากาศ และหน้าที่การงาน ซึ่งมีการถวายทั้งดอกไม้ธูปเทียน ประทัด หรือแม้กระทั่งหมูย่าง เล่ากันว่า คณะหนังตะลุง หรือมโนราห์ที่ผ่านศาลหลักเมือง จะต้องตีกลอง หรือบรรเลงดนตรีสักการะทุกครั้ง เพื่อมิให้เกิดข้อขัดข้องในการเดินทาง และการแสดง

นอกจากนั้น คนไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดตรัง ซึ่งจัดงานประเพณีถือศีลกินเจขึ้นเป็นประจำทุกปี เมื่อขบวนแห่พระผ่านศาลหลักเมือง ก็ต้องแวะหยุดสักการะ ขณะที่ชาวบ้านในตำบลควนธานี ก็ได้ร่วมกันจัดพิธีถือศีลกินเจที่บริเวณศาลหลักเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2511 และได้จัดเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2533 จึงเลิกไป เพราะจำเป็นจะต้องใช้สถานที่เพื่อเตรียมบูรณะครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ.2535 ทางจังหวัดได้เริ่มบูรณะ “ศาลหลักเมืองตรัง” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยสร้างศาลาหลังใหม่ เป็นทรงไทยจัตุรมุข ขนาดกว้าง 22.90 เมตร ยาว 59.74 เมตร และจัดทำยอดเสาหลักเมืองใหม่ โดยใช้ต้นราชพฤกษ์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 เซนติเมตร สูง 2.50 เมตร แล้วนำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงเจิม และทรงพระสุหร่าย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2536 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

ต่อมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ ทรงเปิดศาลหลักเมือง เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2538 ซึ่งในคราว นั้นยังได้มีการร่วมบุญซื้อพื้นที่บริเวณด้านหลังเพิ่มขึ้นอีกครึ่งไร่ เพื่อสร้างศาลาแสดงนิทรรศการความเป็นมาของการตั้งเมืองตรัง และใช้เป็นสถานที่จัดพิธีการ หรือกิจกรรมสำคัญของทางจังหวัด


ขณะเดียวกัน อบต.ควนธานี เจ้าของพื้นที่ ยังได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ ด้วยการปลูกต้นไม้น้อยใหญ่เพื่อให้ร่มเงาคลายร้อน และออกดอกชูช่ออย่างสวยงาม รวมทั้งสร้างสระน้ำขนาดใหญ่รูปทรงสี่เหลี่ยมไว้บริเวณด้านหน้าศาลา และล่าสุด เมื่อ พ.ศ.2554 ได้ทำเรื่องขอกรมศิลปากรให้นำปืนใหญ่กว่า 40 กระบอก ที่เคยตั้งอยู่บริเวณโดยรอบ มาวางไว้ภายในศาลหลักเมืองอีกครั้ง แม้จะได้คืนกลับแค่ 4 กระบอกก็ตาม


ทุกวันนี้ ความเชื่อถือศรัทธาต่อ “ศาลหลักเมืองตรัง” ยังคงสืบทอดต่อๆ กันมา และยังคงมีผู้คนเดินทางมากราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลอย่างไม่ขาดสาย
 สนใจไปเที่ยวชมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ อบต.ควนธานี โทร.0-7526-3023
 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น