นราธิวาส - ผบ.ฉก.นย. เผยต้องมีการตรวจสอบเหตุระเบิดภายในฐานอีกครั้งว่าเกิดจากสาเหตุใด ส่วนกรณีแขวนป้ายป่วน จชต.มีทั้งหมด 154 จุด เพื่อสร้างกระแสต่อต้านการเจรจาสงบศึก
สำหรับความคืบหน้าเหตุระเบิดภายในกองบังคับการชุด ฉก.นราธิวาส 32 อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดกองทัพเรือ กำลังตรวจสอบถังแก๊สปิคนิค น้ำหนัก 25 กก. ที่เจ้าหน้าที่เก็บกู้ได้บริเวณใต้โคนต้นไม้ที่มีการแขวนป้ายผ้าต่อต้านการเจรจา ริมถนนเพชรเกษมในพื้นที่ บ.จำปากอ ม.1 ต.กาเยาะมาตี อ.บาเจาะ แล้วเจ้าหน้าที่ได้นำกลับไปตรวจสอบอีกครั้งที่กองบังคับการ ฉก.นราธิวาส 32 จนเกิดระเบิดขึ้นนั้น
ล่าสุด วันนี้ (23 เม.ย.) น.อ.สมเกียรติ ผลประยูร ผบ.ฉก.นย.ทร.ได้เปิดเผยอีกว่า ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่งว่า สาเหตุที่เกิดระเบิดขึ้นขณะกำลังตรวจสอบนั้นเกิดจากแรงกระแทกระหว่างนำกลับไปที่ฐานหรือไม่ หรือว่าจะเกิดจากวงจรที่ทำงานเป็นระบบ 2 ชั้น ที่คนร้ายได้วางระเบิดไว้ตบตาเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ถือว่าการทำงานของชุดเก็บกู้ชุดนี้ทำงานได้อย่างดีเยี่ยม ถึงแม้จะเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมาจนเกิดการสูญเสียก็ตาม
สำหรับชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดชุดเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิดขึ้นภายในฐานมีด้วยกัน 3 นาย ประกอบด้วย 1.ร.ท.ไชยสิทธิ์ เตชะสว่างวงศ์ 2.พ.จ.อ.ทัศนัย ชมพูทวีป และ 3.จ.อ.เรวัติ คงนาค ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมีด้วยกัน 6 นาย ขณะนี้นอนรักษาตัวอยู่ในห้อง ICU โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จำนวน 2 นาย คือ พ.จ.อ.สมเพชร ญาณปัญญา และ จ.อ.ธีรวัฒน์ สุขรอดรู้ ส่วนอีก 3 นาย คือ จ.อ.สายัณห์ ชินบุตร จ.อ.ธงชัย สุยวงศ์ และ จ.อ.ศราวุฒิ ตาปนานนท์ นอนรักษาตัวอยู่ที่ตึกศัลยกรรมชาย สำหรับอีก 1 รายคือ จ.อ.องอาจ ศักดา ซึ่งมีอาการสาหัส ถูกส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นั้น อาจจะต้องสูญเสียดวงตาข้างซ้ายจากการถูกสะเก็ดของระเบิด
ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับกลุ่มคนร้ายนำป้ายผ้าเขียนข้อความเป็นภาษารูมี และอาหรับ ต่อต้านการเจรจาสงบศึกมาแขวนไว้ตามพื้นที่ต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ในช่วงเช้าของวันที่ 22 เม.ย.56 ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 154 จุด โดยแยกเป็น จ.ปัตตานี 39 จุด ยะลา 20 จุด นราธิวาส 87 จุด และพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา 8 จุดนั้น ในเบื้องต้น เชื่อว่าเป็นคนร้ายกลุ่มเดียวกันที่มีความเชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้มีการประชุมวางแผนนัดแนะกันก่อเหตุในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยใช้แกนนำของแต่ละพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบให้สมาชิกแนวร่วมแฝงตัวนำป้ายไปแขวนไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อสร้างกระแสต่อต้านการเจรจาสงบศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้