ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเปิดบริการท่องเที่ยวแบบ “Sea Walker” ที่บริเวณเกาะไข่ จ.พังงา เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับธรรมชาติใต้ท้องทะเลอย่างใกล้ชิด พร้อมยืนยันไม่กระทบระบบนิเวศใต้ทะเล และมีความปลอดภัยสูง
เมื่อวันที่ 29 มี.ค.56 ดร.กร ศิรินาม ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายสมพร ทิรินทร์ ผู้จัดการ บริษัท เจ แอนด์ เจ มารีน่า จำกัด นำคณะสื่อมวลชนเดินทางลงตรวจสอบการท่องเที่ยวในรูปแบบ “Sea walker” หรือการเดินท่องเที่ยวในทะเล ที่บริเวณเกาะไข่ จ.พังงา ว่า ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศใต้ท้องทะเลหรือไม่ หลังจากที่มีผู้ร้องเรียนว่า การท่องเที่ยวแนวดังกล่าวเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหาย และทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติ
นายสมพร ทิรินทร์ ผู้จัดการ บริษัท เจ แอนด์ เจ มารีน่า จำกัด เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวแบบ Sea walker คือ การเปิดมุมมองของนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติแบบใกล้ชิดกว่าเดิม โดยจะนำเอาอุปกรณ์หัวครอบที่หล่อมาจากโพลี (ปูนสังเคราะห์) น้ำหนัก 37.5 กิโลกรัม ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าศรีษะบุคคลทั่วไป มาให้นักท่องเที่ยวสวมระหว่างที่ลงสู่ใต้ท้องทะเลพร้อมทั้งระบบหายใจใต้น้ำที่มีสายออกซิเจนจากบนเรือต่อไปยังหัวครอบ จากนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยประคองตัวให้ลงสู่ผืนดินใต้น้ำที่มีความลึกจากผิวน้ำประมาณ 6 เมตร และก็จะปล่อยให้นักท่องเที่ยวจับราวเหล็กที่ได้นำมาติดตั้งเอาไว้ เพื่อชมฝูงปลาอันสวยงามที่ว่ายอยู่รอบๆ ตัว อีกทั้งยังสามารถมองปะการังที่ยังมีชีวิตอย่างใกล้ชิด อีกทั้งในช่วงที่นักท่องเที่ยวอยู่ใต้ท้องทะเลก็สามารถหายใจได้เหมือนปกติ เนื่องจากมีหมวกดังกล่าวคอยทำหน้าที่เป็นเครื่องช่วยหายใจ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวแบบดังกล่าวมีมานานแล้ว แต่จะนำเอามาใช้ในพื้นที่เกาะไข่ จ.พังงา เป็นรายแรก
นายสมพร กล่าวต่อว่า ยืนยันการท่องเที่ยวดังกล่าวไม่เป็นการกระทบ หรือสร้างความเสียหายให้แก่ธรรมาชาติในพื้นที่อย่างแน่นอน เพราะพื้นที่บริเวณกว่า 10 ตารางเมตรนั้น ได้มีการนำเรือขนาดใหญ่มาจอดไว้ แล้วมีการทอดสมอเรือ หากช่วงมรสุมก็จะมีการนำเรือแล่นออกจากพื้นที่โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับตัวสมอเรือ ส่วนบรรดาสัตว์น้ำที่สวยงามนั้นก็จะไม่มีการไปรบกวน หรือสร้างภัยอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะก่อนการลงเล่นกิจกรรมของนักท่องเที่ยวจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้ความรู้ และกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย พร้อมทั้งให้นักท่องเที่ยวทุกรายต้องลงชื่อรับทราบตามข้อปฏิบัติ เน้นย้ำเรื่องข้อห้ามในการทำลายปะการัง และสัตว์น้ำทางทะเล
โดยจะเปิดให้บริการประมาณกลางเดือนเมษายนนี้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของกรมเจ้าท่า และการจดทะเบียนบริษัทนำเที่ยว เป็นต้น ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่วางไว้เป็นนักท่องเที่ยวจีนและยุโรป
หลังจากนั้น ก็เปิดโอกาสให้ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการสาธารณสุข และคณะสื่อมวลชน ได้สัมผัสกับการท่องเที่ยวแบบ Sea Walker เป็นระยะเวลาประมาณ 30 นาที
ดร.กร ศิรินาม ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการสาธารณสุข กล่าวว่า การให้บริการนำเที่ยวในรูปแบบดังกล่าวเป็นแนวคิดที่ดี และสร้างสรรค์ที่จะให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับธรรมชาติใต้ท้องทะเลอย่างใกล้ชิด ซึ่งการเดินทางมาครั้งนี้เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่าการนำเที่ยวในรูปแบบดังกล่าวเป็นการทำลายทรัพยาธรรมชาติใต้ท้องทะเล และปะการัง จึงมาดูว่าเป็นจริงอย่างที่ร้องเรียนหรือไม่ ซึ่งจากการที่ได้ใช้บริการท่องเที่ยวรูปแบบดังกล่าวแล้ว เห็นว่าไม่กระทบกับระบบนิเวศใต้ท้องทะเลแต่อย่างใด เพราะจุดที่ดำเนินการเป็นพื้นที่เล็ก มีเนื้อที่ประมาณ 6 เมตร มีทางเดินให้ชมปะการัง และปลาที่เป็นพื้นทราย และมีระบบความปลอดภัย ทั้งในเรื่องของอากาศหายใจขณะอยู่ในน้ำ และมีผู้เชี่ยวชาญลงไปดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวด้วย
“ยืนยันว่าการนำเที่ยวในรูปแบบดังกล่าวไม่น่าจะกระทบต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเล แต่ก็ได้แนะนำให้ทางผู้ประกอบการเข้มงวด และดูแลไม่ให้กระทบในระยะยาว และให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด”