xs
xsm
sm
md
lg

“วิกฤตไฟฟ้า 5 เมษา” วิกฤตเทียมในวิกฤตจริง และทางออก/ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาจะเล่นไม่เลิกกับเหตุการณ์ที่รัฐมนตรีพลังงานได้สร้างกระแสให้สังคมไทยต้องตกอกตกใจในเรื่องที่จะเกิดไฟฟ้าดับในช่วงก่อนสงกรานต์ หรือที่เรียกกันว่า วิกฤตไฟฟ้า 5 เมษายน” แต่ต้องการจะเสนอวิธีการออกจากวิกฤตอย่างยั่งยืนที่ปฏิบัติได้จริงของประเทศเยอรมนี

ในปี 2555 ประเทศไทยใช้ไฟฟ้าคิดเป็นเงินถึง 5.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 17% นอกจากนี้ ยังมีแผนการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท ดังนั้น เรื่องไฟฟ้าจึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่จะมองข้ามไปได้

นอกจากนี้ ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า ในระยะ 10 ปีมานี้ ไม่ว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ไหน ก็จะได้รับการต่อต้านจากคนในพื้นที่ทุกแห่งเช่นกัน บางพื้นที่ถึงขั้นฆ่าผู้นำชาวบ้าน (เช่นคดี คุณเจริญ วัดอักษร ที่ศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิต แต่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง) แต่ทุกคนก็ต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจ

มันเลยไม่เพียงแต่ดูแปลกๆ ในสังคมไทยเรา แต่มันกำลังนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมไทยที่ผมเชื่อว่าคนไทยเราซึ่ง รักสงบโดยดีเอ็นเอทุกคนคงไม่อยากจะเห็น

ดังนั้น ถ้าเราปรารถนาอย่างจริงใจที่จะเห็นทางออกของปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน เราก็ควรจะต้องค้นหาความจริงตามหลักอริยสัจ 4 คือ เริ่มต้นจากการรู้จักปัญหาและเหตุของปัญหา พร้อมกับหาตัวอย่างดีๆ ของประเทศอื่นที่เขาสามารถแก้ปัญหาได้แล้ว

แม้รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจะออกมาบอกว่า สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว ไฟฟ้าจะไม่ดับแล้ว” แต่การค้นหาความจริง และการเรียนรู้ก็จำเป็นต้องมีกันต่อไป

จะเลิกรากันไปเฉยๆ หรือ “นิรโทษกรรม” กันง่ายๆ คงจะไม่อารยะเป็นแน่!

มาเริ่มต้นกันที่ “วิกฤตไฟฟ้า 5 เมษา” ซึ่งผมเรียกว่า วิกฤตเทียม” กันก่อน แต่จะขอกล่าวอย่างสั้นๆ นะครับ

เริ่มแรกรัฐมนตรีพลังงานบอกว่า สาเหตุที่ไฟฟ้าจะดับเพราะแหล่งก๊าซที่เป็นเชื้อเพลิงหลักคือก๊าซธรรมชาติ (68% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด) มีปัญหา ทั้ง 2 แหล่งจากประเทศพม่าที่ต้องหยุดซ่อมตามปกติทุกปี และอีก 1 แหล่งจากท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่เจออุบัติเหตุถูกสมอเรือลากเสียหาย ทำให้กำลังสำรองของโรงไฟฟ้าเหลือเพียง 2% (จากที่เคยมี 20%) ซึ่งเป็นสภาพที่เสี่ยงอย่างมากต่อการเกิดไฟฟ้าดับในบริเวณกว้างทั้งประเทศ โดยจะดับอยู่นานถึงเป็น 10 วัน

ใครจะไม่ตกใจมั่ง!

ความจริงปรากฏในเวลาต่อมาว่า คำแถลงดังกล่าวไม่เป็นความจริงที่จะนำไปสู่ปัญหาดังกล่าวครับ เพราะว่า

(1) ท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ได้ซ่อมเสร็จแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่รัฐมนตรีแถลงเสียอีก

(2) โรงไฟฟ้าที่รับก๊าซจากพม่าได้ถูกออกแบบให้สามารถใช้น้ำมันแทนได้ เมื่อก๊าซไม่มาตามนัดก็ไม่มีปัญหาจนไฟฟ้าดับ แต่อาจจะต้องเสียค่าไฟฟ้าแพงหน่อยเท่านั้นเอง

(3) ก๊าซจากพม่ามี 2 แหล่ง แต่มีปัญหาเพียงแหล่งเดียว แต่รัฐมนตรีบอกว่าจำเป็นต้องหยุดเดินไฟฟ้าทั้งหมด เพราะต้องนำก๊าซทั้ง 2 แหล่งที่มีค่าความร้อนไม่เท่ากันมาผสมกัน ดังนั้น เสียไปหนึ่งจึงเท่ากับเสียสอง

ผมได้ค้นข้อมูลการใช้ก๊าซทั้ง 2 แหล่ง (ซึ่งเป็นข้อมูลของกระทรวงพลังงานนั่นแหละ) พบว่า ก๊าซจากแหล่งหนึ่งถูกนำมาใช้ก่อนแหล่งที่สองนานถึง 2 ปี ดังนั้น ที่ว่าต้องผสมกันจึงไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ ยังพบว่าในแต่ละปีสัดส่วนของก๊าซทั้งสองก็ไม่คงที่ บางเดือน 1 ต่อ 4 และบางเดือน 2 ต่อ 3 ถ้าผสมกันจริงสัดส่วนนี้ควรจะคงที่ หรือใกล้เคียงกับค่าคงที่ คล้ายกับเครื่องแกงส้ม สัดส่วนของหอมกับกระเทียมต้องเกือบคงที่ จะผิดเพี้ยนไปบ้างก็คงไม่กี่กลีบหรอกนะ

(4) รัฐมนตรีอ้างว่า ได้มีการเจรจากับพม่าเพื่อขอเลื่อนเวลาการซ่อมไปในช่วงที่การใช้ไฟฟ้าไม่สูง (เช่น ธันวาคม หรือมกราคม) แล้ว แต่ทางพม่ายอมเลื่อนให้ได้แค่ 1 วัน ทั้งๆ ที่ บริษัท ปตท.จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ถึง 1 ใน 4

(5) รัฐมนตรี รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ. (ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) ได้บอกว่าจะแก้ปัญหาโดยการเจรจาขอซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย (ในราคาหน่วยละ 15 บาท ซึ่งชาวญี่ปุ่นที่นั่งฟังอยู่ด้วยถามผมว่า ทำไมแพงจัง) ความจริงก็คือว่า เป็นการแลกไฟฟ้ากันเพราะความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของแต่ละประเทศไม่ตรงกัน (โครงการเขาบอกว่า The Thailand-Malaysia HVDC Interconnection is comprised of two 300 MW converter stations joined by a 110 km long 300 kV DC transmission line. The system provides for exchange of energy and peaking power between the two countries.) โครงการนี้ได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 21 ธันวาคม 2545 หลังจากวันที่ตำรวจตีหัวชาวบ้านที่คัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียเพียง 1 วัน

ที่ผมต้องเล่ามาทั้ง 5 ข้อนี้ก็เพราะต้องการจะพิสูจน์ว่า นี่คือ “วิกฤตเทียม” ในวิกฤตจริง

ผมยังมีอีก 2 ประเด็นคือ วิกฤตจริงคืออะไร และทางออกจากวิกฤตจริงที่ยั่งยืนคืออะไร

วิกฤตจริงคืออะไร

ผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ. (คุณสิทธิพร รัตโนภาส) เคยประกาศผ่านจอโทรทัศน์ตั้งแต่ประมาณปี 2538 ว่า จะไม่ยอมให้ให้ประเทศไทยใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าเกิน 50%” เพราะเป็นการเสี่ยงเกินไป เหมือนนำไข่ไปใส่รวมกันไว้ในตะกร้าใบเดียว แต่ด้วยอิทธิพลของพ่อค้าพลังงานได้ทำให้มีการใช้ก๊าซเพิ่มขึ้นเป็น 72% เฉยเลย

นอกจากนี้ นโยบายพลังงานรวมทั้งแผนกำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ก็ถูกผูกขาดโดยบริษัท ปตท. ที่ผูกขาดระบบท่อก๊าซทั้งหมดของประเทศ พ่อค้าถ่านหินก็ใช่ย่อย การจัดทำแผนก็ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แม้กฎหมายได้กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่บางครั้งก็แอบไปรับฟังกันในค่ายทหาร ซึ่งผู้คัดค้านเข้าไม่ได้ บางแผนแอบเอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยัดเข้าไปอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

มันน่าอนาถจริงๆ นี่เป็นวิกฤตจริง และเป็นวิกฤตที่ถาวรเสียด้วย กรณี 5 เมษายน เป็นเพียงวิกฤตปลอม เป็นวิกฤตเทียมที่ตั้งอยู่บนวิกฤตจริงเท่านั้น

ประเด็นสุดท้าย คือ ทางออกอย่างยั่งยืน กรุณาอย่าเพิ่งเบื่อนะครับ สิ่งดีๆ สำหรับคนรุ่นเรา และลูกหลานของเรากำลังจะตามมา นั่นคือตัวอย่างดีๆ จากประเทศเยอรมนี

ผมเคยเรียนผ่านคอลัมน์ “โลกที่ซับซ้อน” ว่า ประเทศเยอรมนีได้ใช้เชื้อเพลิงหลายชนิด ทั้งนิวเคลียร์ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียน โดยมีสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในปี 2555 ถึง 22% เพิ่มจากปีก่อนถึง 2% นอกจากนี้ รัฐบาลเยอรมนียังมีความพยายามแบบทะเยอทะยานตามแผนการที่จะให้ถึง 30% ในปี 2563 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า ซึ่งก็น่าจะเกินเป้าโดยไม่ต้องลุ้น

ถ้าเราสามารถยกโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของเยอรมนี ซึ่งได้แก่ พลังน้ำ ชีวมวล ลม แสงอาทิตย์ และพลังความร้อนใต้ผิวโลกมาใช้ในเมืองไทย จะสามารถใช้ได้ถึง 83% ของที่คนไทยใช้ทั้งหมด ดังนั้น วิกฤตต่างๆ ไม่ว่าจริงหรือปลอมจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย

ในบทความนี้ ผมจะนำเสนอข้อมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเฉพาะที่เป็นก๊าซชีวภาพ (biogas) ซึ่งได้แก่ก๊าซที่ผลิตจากขี้วัว ขี้หมู ของเสียจากโรงฆ่าสัตว์ และโรงอาหารคน เป็นต้น

ไบโอก๊าซดังกล่าวนี้ ประเทศไทยเรามีเยอะมาก อาจจะมากกว่าประเทศเยอรมนีเสียด้วยซ้ำ เพราะเราเป็น “ครัวของโลก” ถ้าของเสียเหล่านี้ถูกจัดการไม่ดีจะกลายเป็นปัญหาเชิงสิ่งแวดล้อม

กลับมาที่เยอรมนี ในช่วงเวลา 10 ปี จาก 2543 ถึง 2553 จำนวนโรงไฟฟ้าจากไบโอก๊าซได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,050 เป็น 6,000 หรือเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 20% ในขณะที่กำลังผลิตรวมในปี 2553 ถึงกว่า 2,500 เมกะวัตต์ ซึ่งถ้าผลิตอย่างเต็มกำลัง 100% จะเกือบเพียงพอสำหรับใช้ในภาคใต้ของประเทศไทยได้ทั้ง 14 จังหวัด

ที่น่าสังเกต ขนาดของโรงไฟฟ้าเป็นขนาดเล็ก เฉลี่ยโรงละ 0.42 เมกะวัตต์เท่านั้นเอง ต่างจากในบ้านเราเป็นอย่างมากที่นิยมสร้างกันที่ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ ซึ่งฟังดูแปลกๆ เพราะกฎหมายระบุว่า ถ้าสร้างตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ศรีธนญชัยกันดีแท้นะประเทศไทยเรา! สมควรแล้วที่ชาวบ้านจึงต้องออกมาคัดค้านกันทุกแห่งหน ขอท่านผู้อ่านโปรดเข้าใจความจริงอันนี้ด้วย
 


 
กราฟข้างต้นนี้มาจากงานวิชาการในวารสารฉบับหนึ่ง โปรดสังเกตนะครับว่า ในบางช่วงมีการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แต่ในบางปีมีการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เช่น ในปี 2009 เป็นต้น ทั้งนี้ เพราะมีการปรับปรุงในรายละเอียดของกฎหมายฉบับหนึ่งที่เรียกว่า “กฎหมายเพื่อให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนเป็นอันดับแรก (Law for the Priority of Renewable Energies)”

สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวมี 3 ข้อ คือ ขาดข้อใดข้อหนึ่งจะเพี้ยนทันที

ข้อที่ 1 ใครก็ตามที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถป้อน (Feed In) กระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ก่อนและไม่จำกัดจำนวน

ประเทศไทยเรามีระบบโควตาครับ เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ใกล้ๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กทม.) ได้ลงทุนติดตั้งด้วยเงินลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท แต่ทางการไฟฟ้านครหลวงไม่รับซื้อ แต่รับไฟฟ้าไปฟรีๆ ในวันหยุดทำการ

เจ้าของโรงงานหีบน้ำมันปาล์มที่สุราษฎร์ธานี พยายามที่จะทำโรงไฟฟ้าชีวมวลจากของเสีย แต่ปรากฏว่า การไฟฟ้าภูมิภาคไม่รับซื้อ โดยอ้างว่า “เรามีโควตาแค่ 3 ราย คุณเป็นรายที่ 4”

ข้อที่ 2 เป็นสัญญาระยะยาวประมาณ 20-25 ปี สัญญาในประเทศไทยประมาณ 5 ปี แล้วใครจะกล้ามาลงทุนหากไม่ใช่พวกเดียวกันกับผู้มีอำนาจอนุญาต

ข้อที่ 3 ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น (บ้าง) ให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ

เรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ซับซ้อนก็จริงครับ แต่ไม่ได้ซับซ้อนจนเกินไป เราสามารถทำความเข้าใจได้ ที่รัฐมนตรีคนแล้วคนเล่าสามารถออกมาเป็น “เด็กเลี้ยงแกะ” สร้างเรื่องเท็จให้คนตกใจได้ปีแล้วปีเล่า เพราะสังคมไทยยังไม่รู้เท่าทันเท่าที่ควร

งานวิจัยในเอกสารที่ผมอ้างถึง (The expansion of biogas fuelled power plants in Germany during the 2001-2010 decade: Main sustainable conclusions for PolandWojciech M. Budzianowski , Izabela Chasiak, Wroclaw University of Technology) ได้สรุปว่า สาเหตุที่โรงไฟฟ้าไบโอก๊าซได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็เพราะ 4 ปัจจัยต่อไปนี้ คือ

หนึ่ง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สอง แรงจูงใจด้านทางการเงินจากกฎหมายดังกล่าว สาม การแสวงหาเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น และ สี่ ความเข้มแข็งของภาคเกษตรเยอรมนี

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ เกษตรกรไทยโดยรวมยังอ่อนแอ แม้พวกเขาจะเป็นเจ้าของขี้หมู ขี้วัวซึ่งใช้ทำไบโอก๊าซ (รวมถึงเป็นเจ้าของดวงอาทิตย์ที่เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน) แต่พวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลแบบชนชั้นกลางได้ พวกเขาออกมาคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในขอบเขตทั่วประเทศ เพราะเขากลัวผลกระทบที่ทำลายวิถีชีวิต ทำลายแหล่งอาหาร และทำลายสุขภาพ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านที่จังหวัดกระบี่ ที่กำลังค้นหาความจริงกับกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ (เวทีเสวนาวันที่ 27 มีนาคม นี้) ทั้งๆ ที่ของเสียจากการเกษตรในจังหวัดกระบี่เพียงจังหวัดเดียวก็สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากเกินพอสำหรับคนกระบี่ทั้งจังหวัด หรือเลี้ยงอีก 2 จังหวัดใกล้เคียงก็ยังได้ (หมายเหตุ จากร่างรายงาน EHIA กรณีโรงไฟฟ้ากระบี่ ระบุว่า ในปี 2554 กระบี่ใช้ไฟฟ้า 53.03 ล้านหน่วย นั่นคือ ถ้าแปลงเป็นการใช้โรงไฟฟ้าด้วยอัตราเฉลี่ยของประเทศไทยก็ประมาณ 13-15 เมกะวัตต์เท่านั้น)

แต่เจ้าของโครงการกลับเลือกใช้ถ่านหิน เพราะอะไร?
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น