ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ม.ราชภัฏทั้ง 5 จังหวัดภาคใต้ ผนึกกำลังติวเข้มบุคลากรเครือข่ายหอสมุดฯ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพ ต้อนรับเปิดประชาคมอาเซียน
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (25 มี.ค.) ที่ห้องสัมมนา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต นายดิสัน แหล่ทองคำ รองอธิการบดีฯ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เครือข่ายสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภูมิศาสตร์ภาคใต้” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติแก่บุคลากรทุกระดับเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรทุกด้านของหอสมุด กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ของอาจารย์ นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการ สร้างฐานความรู้ รองรับการก้าวสูประชาคมอาเซียนอย่างมีคุณภาพ โดยมี นางอมรรัตน นาคะโร ผอ.สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะผู้บริหารและบุคลากรจาก 5 ม.ราชภัฏ ประกอบด้วย ยะลา สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต เข้าร่วม
นางอมรรัตน์ นาคะโร ผอ.สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า เครือข่ายสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภูมิศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้รับจัดการอบรมระหว่างวันที่ 25-26 มีนาคมนี้ จุดมุ่งหมายหลักก็เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการ การพัฒนาการปฏิบัติงาน การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และการจัดกิจกรรมร่วมกัน
ทั้งนี้ มีกิจกรรมหลายรูปแบบ ทั้งการบรรยายวิชาการเกี่ยวกับการบริการยุคใหม่ทันใจผู้ใช้บริการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เล่าสู่กันฟัง จากฉันถึง” การศึกษาดูงานแหล่งสารสนเทศในจังหวัดภูเก็ต และกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ โดยคาดหวังนอกจากจะเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเครือข่ายด้วยกันแล้ว สำคัญกว่านั้นคือ การพัฒนาศักยภาพของการให้บริการในทุกรูปแบบของห้องสมุด เพราะการที่เรามีแหล่งเรียนรู้ที่ดี ที่น่าสนใจ และที่มีคุณภาพ ทั้งบุคลากร และทรัพยากร จะเป็นการกระตุ้นผู้ใช้บริการเกิดความอยากเข้ามาใช้บริการมากขึ้น นั่นเป็นเป้าหมายแรกของการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นแก่ผู้ใช้บริการ
อย่างไรก็ตาม นางอมรรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับประเด็นที่สำคัญของการพัฒนาด้านการบริการ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ คือ การที่มีบุคคลสนใจศึกษาหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ของห้องสมุด ซึ่งจะทำให้บุคคลเหล่านั้นเกิดการพัฒนาด้านความรู้ ความคิดของตัวบุคคล ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาเครือข่ายฯ คือ การหาแนวทางร่วมกันที่จะส่งเสริม กระตุ้น ผลักดันให้หอสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่มีผู้สนใจเข้าหาความรู้ให้มากขึ้น และเกิดการเรียนรู้ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น การมีองค์ความรู้ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน จำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีความรู้อย่างน้อยที่สุด ความรู้เบื้องต้น เช่น ธงประจำชาติ ภาษา การแต่งกาย วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ฯลฯ เหล่านี้คือหน้าที่ของแหล่งความรู้อย่างหอสมุดที่จะต้องร่วมกันตระหนัก และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะสังคมมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ถ้าเราตามไม่ทัน เราก็ไม่สามารถรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
ด้าน นายดิสัน แหล่ทองคำ กล่าวว่า หอสมุดมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านนี้มาก มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไข และพัฒนามาโดยตลอดทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับหอสมุด ทั้งส่วนผู้ให้บริการซึ่งจะมีการอบรม ส่งเสริมศักยภาพ บุคลิกภาพอย่างต่อเนื่อง การปรับทัศนียภาพของหอสมุดให้มีชีวิต ความมีสีสันของสถานที่เป็นส่วนสำคัญที่จะดึงดูดนักเรียน นักศึกษา และประชาชนร่วมใช้บริการ
โดยขณะนี้ก็เป็นที่น่าพอใจว่า ได้รับการตอบรับอย่างมากในการเข้าใช้ห้องสมุด หรือการพัฒนาระบบสารสนเทศที่ทันสมัย เข้าถึง ทันต่อเหตุการณ์ เช่น มีการจัดนิทรรศการมุมอาเซียน ซึ่งได้มีการจำลองการแต่งกาย อาหาร วัฒนธรรม ธงประจำชาติ ซึ่งจะง่ายต่อการจดจำ และทำความเข้าใจแก่ผู้เข้าใจบริการมากขึ้น หรือการจัดทรัพยากรความรู้ทั้งในส่วนของหนังสือที่มีความทันสมัย ใหม่ หลากหลาย และทรัพยากรความรู้ที่อยู่ในรูปของวิดีทัศน์ ข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบของสารสนเทศ ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการเข้ารับบริการยังห้องสมุดมากขึ้น
และนับเป็นโอกาสดีที่ได้กลุ่มราชภัฏภาคใต้ได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งองค์ความรู้ และประสบการณ์ อันจะทำให้มีความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้านวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อปรับตัวให้เข้ากับบริบทอาเซียน ซึ่งหอสมุดมีความสำคัญมากต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ต่อไป