xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กบอสอิสลามิกแบงก์” ประกาศหวนคืนสู่ “มุสลิม” มุ่งลงใต้ และอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธานินทร์ อังสุวรังษี ผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
 
บาทก้าวที่ผ่านวิกฤตอันหนักหน่วงของ “ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย” ที่ผ่านมาเพียง 4 เดือน หลังจากที่ “นายธานินทร์ อังสุวรังษี” เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการใหญ่คนใหม่ จะว่าเป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาอาสากอบกู้สถาบันการเงินของรัฐแห่งนี้ก็คงไม่สามารถบอกได้ว่า อนาคตจะมีอะไรดีขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน เพียงแต่ในช่วงเริ่มต้นของการทำงานน่าจะวาดหวังให้แบงก์อิสลามเดินหน้าผ่านพ้นเส้นทางอันขรุขระไปสู่ทางเรียบให้ได้
 
แน่นอนว่า เขาเสนอตัวก้าวเข้าสู่ร่มธงของแบงก์อิสลามด้วยความมุ่งมั่น และเชื่อมั่น อย่างน้อยต้องพกพาเอาแผนที่ชี้นำทางอันหลากหลายเส้นทางสู่ความสำเร็จไว้แล้ว ซึ่งบางส่วนของหนทางนำแบงก์อิสลามสู่ความสดใสเขาได้บอกเล่าให้ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ฟังอย่างออกรสชาติ เมื่อครั้งได้มีโอกาสนั่งจับเข่าพูดคุยในระหว่างร่วมงานมันนี่ เอ็กซ์โป หาดใหญ่ ครั้งล่าสุด ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 มี.ค.นี้ ณ ศูนย์ประชานานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ม.อ.หาดใหญ่
 
คำพูดที่ออกจากเรียวปากของเขาฟังดูเหมือนกับเป็นเรื่องง่ายๆ นับแต่นี้ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจะต้องยึดหลักสูงสุดคืนสู่สามัญ กล่าวคือ กลับไปสู่การดำเนินธุรกรรมการเงินตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งแบงก์ ซึ่งได้ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอย่างให้เห็นคือ การกลับไปหากลุ่มลูกค้าที่เป็นมุสลิม โดยเฉพาะกับพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ รวมถึงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และโอกาสในการก้าวสูประชาคมอาเซียนที่กว่า 400 ล้านคนเป็นมุสลิม
 
ต่อไปนี้คือการถอดความคิดของ “นายธานินทร์ อังสุวรังษี” ผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษแก่ทีมข่าว “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ท่ามกลางบรรยากาศอลหม่านของพิธีเปิดงานมันนี่ เอ็กซ์โป หาดใหญ่ แม้จะมีเวลาเพียงช่วงสั้นๆ อันส่งผลให้คำถาม และคำตอบออกมาในลักษณะค่อนข้างกระชับ และรวบรัดก็ตาม
 


 
ASTVผู้จัดการภาคใต้” : เริ่มงานในตำแหน่งผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมานานเท่าไหร่แล้ว
 
“ธานินทร์ อังสุวรังษี” : เพิ่งเข้ามาทำงานประมาณ 4 เดือน เริ่มกลางเดือน พ.ย.2555 ที่ผ่านมา
 
: ทราบว่ายังมีกระแสตื่นกลัวกันว่า ธนาคารอิสลามยังมีปัญหา และอาจจะล้มได้
 
ตอนนี้สถานการณ์ก็ยังปกติดี ตอนแรกมีแต่เงินไหลออก ส่วนตอนนี้ก็ยังคงมีเงินไหลออกอยู่ เพียงแต่ไม่มากนัก เริ่มมีแนวโน้มเป็นบวกมากขึ้น สถานการณ์ปกติดี โดยหลักๆ ยังโอเคครับ
 
: สภาพคล่องตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
 
ตอนนี้เรามีสภาพคล่องส่วนเกินถึงกว่า 10,000 ล้านบาท
 
: ในส่วนของยอดเงินฝากรวมเรามีเท่าไหร่
 
ตอนนี้ก็มียอดเงินฝากกว่า 100,000 ล้านบาท
 
: ด้านสินเชื่อที่ปล่อยกู้ไปแล้วยอดเป็นอย่างไร
 
ยอดสินเชื่อรวมกว่า 90,000 ล้านบาท
 
: การที่เสนอตัวเข้ารับตำแหน่งนี้คงต้องได้ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นมาก่อน อยากทราบว่าธนาคารอิสลามมีปัญหามากน้อยแค่ไหน 
 
ก่อนผมเข้ารับตำแหน่งก็ทราบมาบ้างแล้ว ผมเข้าใจครับว่ามีหนี้ที่มีปัญหาที่ค้างอยู่ ที่ผมเข้ามาก็ตั้งใจจะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้
 
: ถึงเวลานี้สัดส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้ NPL ของธนาคารอิสลามมีเหลืออยู่จำนวนเท่าไหร่
 
ตอนนี้เรามีหนี้ NPL อยู่ประมาณ 20% หรือประมาณ 24,000 ล้านบาท
 
: ที่ว่าหนี้ NPL มีประมาณ 20% นี่หนักไปในส่วนไหนของประเภทการให้สินเชื่อ
 
ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนสินเชื่อทั้งหมด
 
: อยากทราบว่าสัดส่วนของสินเชื่อที่แบงก์อิสลามมีอยู่ในเวลานี้ ปล่อยไปในด้านไหนมากที่สุด
 
ที่ผ่านมา เราปล่อยสินเชื่อในด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นี่นับได้ประมาณครึ่งหนึ่ง แล้วส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่
 

 
: แล้วสัดส่วนของสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดปัญหามีมากน้อยแค่ไหน
 
เวลานี้สินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์มีไม่ถึงครึ่งที่แย่ หรือมีไม่ดีเพียงแค่ 20% เราต้องดูในภาพรวม คือ เราปล่อยไป 90,000 กว่าล้านบาท ที่จริงเคยมียอดสูงถึง 120,000 ล้านบาท แต่เวลานี้ปรับไปปรับมา ลดมาอยู่ที่ประมาณ 90,000 ล้านบาท แล้วก็ไม่ได้แย่ไปเสียทั้งหมด
 
อยากทำความเข้าใจอย่างนี้ ที่เวลานี้เรามี NPL ประมาณ 20% นี่ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เป็นเหมือนกับที่ทุกธนาคารมีเกิดขึ้นเหมือนกัน ของธนาคารอิสลามเราไม่ได้มีอะไรใหม่หรือแตกต่างจากแบงก์อื่น คือเกิดจาก 1.การปล่อยสินเชื่อไม่รอบคอบ โดยหลักการแล้วไม่ถูกต้อง หลักคิดของพนักงานในการปล่อยสินเชื่อที่ผ่านมาคิดว่า ถ้าหลักประกันคุ้มก็ปล่อยกู้ทันที ที่จริงแบงก์ปล่อยกู้ให้ไปนั้นวัตถุประสงค์หลักคือ แบงก์ต้องการเงินคืน ไม่ใช่ต้องการยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน อย่างยึดรถ ยึดบ้าน เป็นเรื่องของหลักคิดที่ว่ามีหลักประกันคุ้มก็ปล่อยสินเชื่อให้
 
2.การประเมินหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อให้สินเชื่อไม่ถูกต้อง ไม่ละเอียด ซึ่งอาจจะเป็นการตีราคาให้เยอะเกินไป และ 3.การให้บริการและการติดตามสินเชื่อ เช่น ความคืบหน้าของทุกงวดที่ปล่อยสินเชื่อ เราต้องมีการติดตามดูว่าการก่อสร้างคืบหน้าไประดับไหมแล้วบ้าง บางกรณีจะมีเบิกไปหลายงวด แต่ไม่ทำการก่อสร้างก็มี เราถือว่าผิดสัญญา อีกทั้งเจ้าหน้าที่ทางเราไม่ติดตามอย่างเข้มข้น
 
: NPL ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามระบบก็จริงๆ แต่ภาพในสังคมมีการยกกรณีนักการเมืองกลุ่มสิบหกกับแบงก์สตางค์แดง หรือธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การในอดีตขึ้นมาเปรียบเทียบด้วย
 
ผมไม่แน่ใจในกรณีนั้นเท่าไหร่ ไม่แน่ใจว่าเทียบกันได้หรือเปล่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวนั้นเป็นแบงก์เอกชน แต่ธนาคารอิสลามเป็นแบงก์เฉพาะกิจ เป็นแบงก์ของรัฐ ถูกตั้งมาเพื่อให้บริการแก่กลุ่มลูกค้ารายย่อยที่เป็นมุสลิม ฉะนั้น สถานการณ์จึงไม่เหมือนกัน แต่ที่ผ่านมาธนาคารอิสลามอาจต้องการทำกำไรบ้าง จึงไปเน้นในภาคธุรกิจเยอะเกินไป
 
: แสดงว่าการปล่อยสินเชื่อที่ผ่านมาของแบงก์อิสลาม เราไปมุ่งเน้นในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากเกินไป
 
ผมเข้าใจว่าที่ผ่านมาเราน่าจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าดูจากรายงาน และลักษณะปัจจุบันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น การปล่อยสินเชื่อของแบงก์อิสลามเน้นไปปล่อยในธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์มากเกินไป ปล่อยไป 50,000 กว่าล้านบาท แต่เรามีปัญหาการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ 50,000 กว่าล้านบาทก็จริง แต่ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME เราก็ปล่อยสินเชื่อไปไม่น้อยนะ รวมแล้ว 30,000 กว่าล้านบาท
 
: ที่จริงเราเป็นแบงก์รัฐ เกิดจาก พ.ร.บ.เฉพาะ เป็นแบงก์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อชาวมุสลิมโดยเฉพาะ
 
แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำหน้าที่ตรงตามเป้าหมาย
 
: ทำไมที่ผ่านมาธนาคารอิสลามถึงออกไปทำธุรกิจกิจแข่งกับแบงก์พาณิชย์ทั่วไป
 
ผมบอกไม่ได้ เพราะผมเพิ่งมารับตำแหน่ง แต่หลังจากนี้ผมจะดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยขึ้น
 

 
: แสดงว่าหลังจากนี้จะมุ่งเน้นทำธุรกิจกับกลุ่มมุสลิมมากขึ้น แล้วมองพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้อย่างไร
 
คงเป็นเรื่องของ Microfinance หรือสินเชื่อรายย่อย ที่ผ่านมาเรามีลูกค้ารายย่อยที่เป็นชาวมุสลิมเพียง 3% จากลูกค้าที่เราปล่อยสินเชื่อให้ทั้งหมด ดังนั้น พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เรายังขยายการลงทุนได้อีกเยอะ ซึ่งก็คงเน้นความร่วมมือกับภาคเอกชน และเราจะเน้นกลุ่มมุสลิมด้วย
 
: อยากทราบว่าต่อจากนี้ไปธนาคารอิสลามจะสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคมอย่างไร
 
ต่อนี้ไปเราจะตั้งใจทำงาน ระดมเงินออม การระดมเงินฝากอยากบอกสังคมว่า กับธนาคารอิสลามที่เป็นแบงก์รัฐนั้น ปลอดภัยแน่นอน อาจจะเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้แก่ผู้ฝาก ซึ่งผลตอบแทนส่วนนี้ได้จากเงินที่นำไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการแล้วได้เป็นส่วนแบ่งของรายได้กลับมา โดยคาดว่าอาจจะให้ผลตอบแทนเงินฝากได้ถึง 3.3% หรือ 3.4%
 
: โอเค เราคือธนาคารอิสลาม ที่นี้ในส่วนของลูกค้าที่เป็นคนไทยพุทธล่ะ
 
ที่ผ่านมา ลูกค้าของเราเป็นไทยพุทธก็มี คนพุทธก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ แต่เราต้องอธิบายเงื่อนไขให้เขาฟังเพื่อสร้างความเข้าใจ
 
: นับแต่นี้ไปเป้าหมายหลักของลูกค้าแบงก์เราอยู่ที่ไหน
 
ก็มีทั่วประเทศ ภาคใต้ และภาคกลางอาจจะเยอะหน่อย เวลานี้ธนาคารอิสลามมีจำนวนสาขารวม 107 อันนี้รวมสำนักงานใหญ่ไปแล้วด้วยนะ ภาคใต้เรามีอยู่ประมาณกว่า 30 แห่ง กลุ่มเป้าหมายหลังจากนี้จะเน้นไปที่เป็นมุสลิมมากขึ้น
 
: มองโอกาสของธนาคารอิสลามในท่ามกลางประชาคมอาเซียน หรือ AEC ไว้อย่างไรบ้าง
 
ในอนาคตที่ประเทศไทยเราจะก้าวเข้าสู่ AEC หรือประชาคมอาเซียน นั่นก็จะเป็นโอกาสที่ดีเอามากๆ สำหรับเรา เพราะคนในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือ AEC เกินครึ่งเป็นมุสลิม
 
เมื่อถึงเวลานั้นเราจะเน้นกลุ่มคนมุสลิมที่เดินทางเข้ามายังในประเทศไทย เข้ามาทำการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เราจะเป็นตัวกลางในการทำหน้าที่ให้ในแวดวงธุรกิจการเงิน ทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ รวมถึงมุ่งเน้นบริหารทางการเงินต่างๆ ด้วย อย่างตู้ ATM เป็นต้น

กำลังโหลดความคิดเห็น