ปัตตานี - ชาวปัตตานีทั้งผู้นำศาสนา เจ้าหน้าที่รัฐ และชาวบ้านต่างไม่เห็นด้วยหากรัฐจะประกาศเคอร์ฟิว ชี้จะส่งผลกระทบทั้งด้านการดำเนินวิถีชีวิต การปฏิบัติศาสนกิจ และการดำเนินการแก้ปัญหาความไม่สงบ
นายยะโก๊บ หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี เปิดเผยกรณีรัฐบาลจะประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ข่าวเหล่านี้ไม่อยากได้ยินกับการแก้ปัญหาความไม่สงบ ฝากวินวอนทางรัฐบาลอย่าให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เพราะการที่ไม่ให้ออกจากบ้านในยามวิกาลไม่ใช่บริบท หรือวิถีชีวิตของชาวมุสลิมที่จะต้องละหมาดเคารพพระเจ้าวันละ 5 เวลา โดยเฉพาะยามค่ำคืน 2 เวลา
“ถ้าห้าม ก็แสดงว่าท่านห้ามประกอบศาสนกิจ มันก็จะเป็นเรื่องยาว ฉะนั้น หากท่านไม่เข้าใจในบริบท ท่านก็ไปทบทวนยุทธศาสตร์ที่พระเจ้าอยู่หัวบอกว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา แค่นี้ก็พอ ถ้าไม่เข้าใจก็เสียเวลาเปล่า สิ่งที่ทำมา หรือแม้แต่ครั้งที่ไปมาเลเซียก็สูญเปล่า อย่าใช้อารมณ์มาแก้ปัญหา”
นายยะโก๊บกล่าวว่า สังเกตง่ายๆ ทำไม่ถึงมีเหตุความรุนแรง ทั้งยิงครูชาวนา ยิงพ่อค้าผลไม้ หรือยิงนายอำเภอ ก็เพราะผู้ใหญ่ให้สัมภาษณ์โต้แย้งว่า ไอ้นั่นไม่ใช่มนุษย์ หรืออะไรต่อมิอะไร ควรที่จะใช้คำพูดที่ดี ตนเชื่อว่าคนที่เป็นโจร หรือทำตัวไม่ดี เราต้องเอาเมตตาธรรมมาใช้ เชื่อว่าอะไรๆ จะดีขึ้น อย่าไปเอาอารมณ์มาใช้แก้ปัญหา เราต้องลงมือปฏิบัติแก้ปัญหาอย่างจริงจัง อย่างนั้นเชื่อได้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นตามลำดับ
ส่วนนายอิสมาแอ กา เดร์ ชาวบ้านหมู่ 1 อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอยะหริ่งอยู่กันแบบเรียบง่าย ส่วนใหญ่จะอยู่กันตามบริเวณร้านน้ำชา และสถานที่ประกอบศาสนกิจ หรือไม่ก็ประกอบธุรกิจค้าขายเสื้อผ้ากระสอบตามตลาดนัด ส่วนเวลากลางคืนชาวบ้านบางส่วนก็ออกไปประกอบอาชีพตั่งแต่เช้ามืด ซึ่งชาวบ้านจะต้องมีการเดินทางออกนอกพื้นที่ตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าจำเป็นที่จะต้องมีการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่จริง และเป็นมาตรการขั้นสุดท้ายแล้ว ตนเองก็เห็นด้วย
“แต่ส่วนลึกๆ แล้วก็อยากให้มีการหามาตรการอื่นมาทดแทนก่อน เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ต้องออกไปประกอบศาสนกิจในช่วงเวลากลางคืน โดยเฉพาะในเดือนถือศีลอด ซึ่งจะต้องมีการปฏิบัติประกอบศาสนกิจทั้งคืน นอกจากนี้ ยังกระทบต่อการประกอบอาชีพกับชาวบ้านที่จะต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ในเวลากลางคืนอีกด้วย”
นายมัยดิน เบญญธาดา วัฒนธรรมอำเภอยะหริ่ง กล่าวว่า โดยปกติแล้ววิธีชีวิตของชาวบ้านในที่นี่จะเกี่ยวข้องกับในด้านวัฒนธรรม จึงต้องออกพบปะชาวบ้านในพื้นที่เป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงเวลาว่างในช่วงกลางคืน โดยส่วนใหญ่จะพบกับชาวบ้านที่มัสยิดและร้านน้ำชา ซึ่งร้าน้ำชาถือว่าเป็นวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสามารถที่จะพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง ซึ่งการพบปะที่ร้านน้ำชาก็จะต้องมีการเดินทางไปมา ซึ่งถ้ามีการประกาศเคอร์ฟิวจริงก็อาจมีผลกระทบบ้างในการลงพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าชาวบ้านไม่เข้าใจ เพราะถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ชาวบ้านอาจจะเกิดความอคติต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
“ถึงแม้ว่าการประกาศยังไม่มาถึง แต่ก็คาดเดาได้ว่า จะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในพื้นที่แน่นอน ซึ่งเราก็ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เป็นประจำอยู่แล้ว ถ้าเกิดความหวาดกลัวกับการเดินทาง ก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติงานได้ แต่ถ้ามีการประกาศจริง ในฐานะข้าราชการก็พร้อมจะปฏิบัติตาม แต่ก็ต้องหาวิธีการในการทำงานร่วมกับชาวบ้าน โดยมีการจำกัดช่วงเวลาในการทำงานโดย และพิจารณาความเหมาะสมของงานที่จะต้องลงในพื้นที่แล้วแต่กรณีไป” นายมัยดินกล่าวในที่สุด