xs
xsm
sm
md
lg

ตรังเสนอจัดอาสาสมัครช่วยแก้ปัญหาถนนจุดตัดรถไฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง เสนอแนวทางแก้ปัญหาถนนจุดตัดรถไฟที่มีนับ 30 จุด ด้วยการให้การรถไฟฯ จับมือ อปท. จัดเจ้าหน้าที่อาสามาช่วยดูแลการจราจร ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากเดิม 1 ชั่วโมงครึ่ง เหลือแค่ 45 นาที

นายประทีป โจ้งทอง นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า กรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้อนุมัติงบประมาณ 300 ล้านบาทเศษ เพื่อปรับเปลี่ยนหมอนรางรถไฟ จากเดิมซึ่งเป็นไม้ และผุพังได้ง่ายมาเป็นแบบคอนกรีตทั้งหมด ในช่วงระหว่างสถานีรถไฟชุมทางทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และสถานีรถไฟกันตัง จ.ตรัง อันจะเป็นผลดีสำหรับการเดินทางด้วยรถไฟในอนาคต แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องถนนจุดตัดรถไฟที่มีจำนวนมากขึ้นอีกเช่นกัน จนทำให้รถไฟไม่อาจเพิ่มความเร็วได้มากขึ้นตามที่หวังไว้

ทั้งนี้ เนื่องจากถนนจุดตัดรถไฟที่ผ่านเส้นทาง จ.ตรัง มีมากนับ 30 จุด และส่วนใหญ่ก็ไม่มีเครื่องกั้นอัตโนมัติ หรือพนักงานไปคอยดูแล อีกทั้งในบางจุดก็เคยเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง จึงจำเป็นที่รถไฟจะต้องวิ่งผ่านช้าๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร แต่การที่จะสร้างเครื่องกั้นอัตโนมัติ หรือมีพนักงานไปคอยดูแลทุกจุดคงเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้งบประมาณสูงมาก ดังนั้น เพื่อให้สอดรับกับการท่องเที่ยวทางรถไฟ อันเนื่องมาจากการเดินทางที่จะรวดเร็วมากขึ้นจึงเห็นว่าควรดึงมวลชนในพื้นที่มาร่วมแก้ไขปัญหา

โดยเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ จัดอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) มาประจำยังถนนจุดตัดรถไฟที่มีวิ่งผ่านแค่วันละ 4 ขบวน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ขณะที่รถไฟเองก็จะสามารถทำความเร็วได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมากังวลเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งการรถไฟฯ อาจช่วยสนับสนุนงบประมาณมาจำนวนหนึ่งเพื่อจัดซื้อวิทยุสื่อสารให้แก่เจ้าหน้าที่ อปพร.เหล่านั้น อันจะทำให้การทำงานออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น ดีกว่าไปลงทุนแก้ปัญหาด้วยวิธีการแบบเดิมๆ

ด้านนายประพัฒน์ ไหมขาว นายสถานีรถไฟกันตัง เปิดเผยว่า ใน จ.ตรัง นับตั้งแต่สถานีคลองมวน จนถึงสถานีรถไฟกันตัง มีถนนจุดตัดรถไฟที่มีพนักงานไปคอยดูแล 6 จุด ส่วน 2 จุดที่เหลือ คือ ต.คลองมวน กับ ต.ห้วยยอด จะใช้เครื่องกั้นอัตโนมัติ แต่ในความเป็นจริงยังมีถนนจุดตัดรถไฟอีกประมาณ 20 จุด ซึ่งมิได้มีเครื่องกั้นอัตโนมัติ หรือมีพนักงานไปคอยดูแล เนื่องจากแต่ละจุดต้องใช้งบประมาณสูงนับล้านๆ บาท อีกทั้งยังเป็นภาระของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะพิจารณาจัดสรรงบประมาณมาจัดสร้าง

ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาที่น่าจะเร็วที่สุด และใช้งบประมาณน้อยที่สุดก็คือ การขอความร่วมมือให้แต่ละท้องถิ่นจัดอาสาสมัครมาประจำยังถนนจุดตัดรถไฟ เหมือนกับที่บางจังหวัดในภาคใต้ดำเนินการประสบความสำเร็จมาแล้ว เนื่องจากจังหวัดตรังมีรถไฟวิ่งผ่านวันละไม่กี่ขบวนเท่านั้น เพียงแต่ต้องหาเจ้าภาพหลักมาช่วยประสานเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะให้รถไฟที่วิ่งผ่านช่วงระหว่างสถานีรถไฟคลองมวน-สถานีรถไฟตรัง ใช้เวลาลดลงจากเดิม 1.30 ชั่วโมง เหลือแค่ 45 นาที อันจะส่งผลดีต่อการโดยสารทางรถไฟในอนาคต
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น