xs
xsm
sm
md
lg

“รมว.กลาโหม” ชี้ดับไฟใต้ได้ดีขึ้น แก้โรฮิงญาด้วยหลักมนุษยธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - “รมว.กลาโหม” นำคณะลุยดับไฟใต้ เผยสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะ 3 หน่วยงานคือ ทหาร ตำรวจ และพลเรือนทำงานเป็นเอกภาพมากขึ้น ระบุปัญหาโรฮิงญาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องแก้ปัญหาโดยยึดหลักมนุษยธรรม
 
วันนี้ (22 ม.ค.) ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อประชุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โดยมี พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัตช์ แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ผู้ว่าราชการจังหวัด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าร่วมประชุม
 
โดยก่อนการประชุม พล.อ.อ.สุกำพล ได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวถึงการเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ โดยกล่าวว่า ไม่ได้มีการมอบนโยบายอะไรเป็นพิเศษ เนื่องจากว่ารัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่มาติดตามการปฏิบัติ เพื่อให้นำมาซึ่งความสำเร็จ และหากมีปัญหาอะไรต้องแก้ไขก็สามารถที่จะดำเนินการได้
 
ในการปฏิบัติงานอาจมีความยุ่งยากบ้าง เนื่องจากฝ่ายตรงข้ามมีการเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งต้องดูว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร แล้วหน่วยงานด้านความมั่นคงควรทำอย่างไร ผลการปฏิบัติงานในห้วงที่ผ่านมาพบว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นมาก เนื่องจากสามารถจับแกนนำกลุ่มใหญ่ได้ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ เพราะว่าประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับทางราชการมากขึ้น และในปี 2556 ก็เชื่อว่าน่าจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ
 
สำหรับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ ตนเองคิดว่ารัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการมาถูกต้องแล้ว ด้านการปฏิบัติงานของหน่วยในพื้นที่พบว่า มีความเป็นเอกภาพ โดยทั้ง 3 หน่วยงานหลักที่ดูแลการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้นั้น ถือว่าหน่วยงานทั้งหมดทำงานร่วมกันได้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร และพลเรือน ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่หน่วยงานในภาคอื่นด้วย
 
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังกล่าวถึงปัญหาการลักลอบเข้าพื้นที่ของชาวโรฮิงญาว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศปลายเหตุ ซึ่งจะต้องแก้ปัญหาตามหลักมนุษยธรรม แต่ถ้าถามว่าไทยอยากจะรับบุคคลกลุ่มนี้หรือไม่ ก็คิดว่าไม่มีใครอยากรับ แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็จะต้องดำเนินการกันต่อไป ซึ่งในขณะนี้ ต้องให้การดูแลผู้ลี้ภัยเข้ามาเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว อยู่ในค่าย 7 แห่ง จำนวนผู้ลี้ภัยประมาณ 140,000 คน แต่อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นก็จะต้องให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งจะต้องค่อยๆ แก้ปัญหาต่อไป

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น